GreedisGoods » Economics » Moral Hazard คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร

Moral Hazard คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร

by Kris Piroj
Moral Hazard คือ ความไม่สมมาตรของข้อมูล Asymmetric Information เศรษฐศาสตร์

Moral Hazard คืออะไร?

Moral Hazard คือ ปรากฎการณ์ที่เป็นผลมาจากการที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลไม่เท่ากันหรือความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ทำให้ฝ่ายที่มีข้อมูลมากกว่าใช้ข้อมูลที่มีสร้างความได้เปรียบจากอีกฝ่ายหลังจากทำสัญญา

การสร้างความได้เปรียบในปรากฎการณ์ Adverse Selection จากความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) จะทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบในการทำธุรกรรมเสียเปรียบในการทำธุรกรรม (มักเกิดขึ้นในลักษณะของการปกปิดข้อมูล) ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวของกลไกตลาดได้ในท้ายที่สุด

จะเห็นว่า Moral Hazard เป็นการฝ่ายที่มีข้อมูลมากกว่าใช้ข้อมูลที่มีสร้างความได้เปรียบจากอีกฝ่าย (เรียกว่า Opportunism) ที่คล้ายกับ Adverse Selection เพียงแต่ Moral Hazard จะเป็นการที่ฝ่ายที่มีข้อมูลมากกว่านำข้อมูลมาสร้างความได้เปรียบในภายหลังจากที่ทำธุรกรรมไปแล้ว

โดย Moral Hazard จะเกิดขึ้นในลักษณะที่พฤติกรรมของผู้ที่ได้ทำธุรกรรมเปลี่ยนไป เนื่องจากธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยรับภาระต้นทุนที่เกิดจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ตัวอย่าง Moral Hazard

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดของ Moral Hazard คือ การที่ผู้ที่ซื้อประกัยภัยมีประกันภัยแล้วมีความระมัดระวังน้อยลงกว่าเมื่อตอนที่ไม่มีความคุ้มครองจากประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นในกรณีของประกันรถยนต์ ประกันสุขภาพ หรือประกันอะไรก็ตาม

หรือเจาะจงและเข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ ในระยะที่โควิดเริ่มไม่น่ากลัวสำหรับใครหลายคนแล้วแต่ยังชดเชยในระดับแสนถึงล้านบาท ก็มีผู้เอาประกันจำนวนไม่น้อยจงใจติดโควิด เพื่อเคลมประกัน

ซึ่งเหตุการณ์ในตัวอย่าง Moral Hazard ด้านบน เกิดขึ้นจากการที่บริษัทประกันภัยไม่สามารถรับรู้ได้ว่าพฤติกรรมของผู้ทำประกัน (ผู้เอาประกัน) เปลี่ยนไปหลังจากที่ได้ทำประกันภัยกับบริษัท

สมมติว่า บริษัทประกันแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่มตามความเสี่ยงด้านสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มความเสี่ยงสูง กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มความเสี่ยงต่ำ เมื่อเกิด Moral Hazard ขึ้นก็จะทำให้ความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่มเพิ่มขึ้นเนื่องจากมองว่ามีบริษัทประกันเป็นผู้รับภาระค่ารักษาพยาบาลให้

ผลที่ตามมาคือยอดเคลมประกันที่เพิ่มขึ้นจากทั้งการเข้ารับการรักษามากขึ้นอย่างไม่จำเป็น การขอให้แพทย์จ่ายยาแพงเกินจำเป็นเพราะเชื่อว่าดีกว่า และทำร้ายตัวเองแต่บิดเบือนให้เป็นอุบัติเหตุเพื่อเคลมประกัน เป็นต้น

ทำให้บริษัทประกันจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาเบี้ยประกันเพื่อรองรับการเคลมประกันที่มากขึ้น จนทำให้กลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำกว่ารู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะทำประกันสุขภาพอีกต่อไป จนทำให้กลไกตลาดประกันสุขภาพล้มเหลวในท้ายที่สุด จึงเป็นเหตุผลให้ธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันจึงมีเงื่อนไขมากมายในการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้น

Moral Hazard ในระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ Moral Hazard ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในประเด็นระดับมหภาค อย่างเช่น นโยบายเกี่ยวกับการลดหนี้หรือการยกหนี้ที่อาจนำไปสู่แรงจูงใจที่ทำให้ผู้ที่ตั้งใจชำระหนี้อยู่แล้วไม่อยากชำระหนี้อีกต่อไปหรือชำระหนี้ช้าลง เพราะเชื่อว่าตนถูกเอาเปรียบหรือเชื่อว่าในท้ายที่สุดจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาอยู่ดี

อีกกรณีคือการลดดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกเข้าใกล้ 0 ก็มีความกังวลต่อ Moral Hazard ที่อาจเกิดขึ้นจากการกู้มากขึ้นจนเกินตัวในที่สุด เพราะเชื่อว่า Fed มีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากในขณะนั้นมีแต่ท่าทีที่ดอกเบี้ยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก: Equilibrium in Competitive Insurance Markets: An Essay on the Economics of Imperfect Information, The market for “lemons”: Quality uncertainty and the market mechanism

บทความที่เกี่ยวข้อง