Multidomestic Strategy คืออะไร?
Multidomestic Strategy คือ กลยุทธ์ข้ามชาติในรูปแบบที่มีแนวคิดในการปรับปรุงสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมหรือความต้องการของคนในประเทศที่บริษัทได้เข้าไปทำธุรกิจ (ตามชื่อ Multi+domestic) ด้วยการใช้บริษัทลูกหรือบริษัทสาขาที่ธุรกิจขยายเข้าไปในแต่ละประเทศ
กลยุทธ์ข้ามชาติแบบ Multidomestic Strategy จะใช้กับสินค้าหรือบริการที่ต้องการปรับให้เข้ากับท้องถิ่น (Localized) ที่บริษัทเข้าไปลงทุน รวมถึงการใช้การบริหารบนด้วยแนวคิด Polycentric
โดยบริษัทลูกในแต่ละประเทศจะมีขอบเขตรับผิดชอบในส่วนต่าง ๆ ของบริษัทสาขาในประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การตลาด การผลิตที่เกิดขึ้นภายในสาขาของประเทศนั้น และการปรับปรุงสินค้าให้เหมาะสมกับในแต่ละประเทศ
ในขณะสูตรการผลิตเฉพาะ การวิจัยและพัฒนา และความลับบางอย่างจะถูกควบคุมโดยบริษัทแม่เพื่อควบคุมความลับทางการค้าของธุรกิจ
ตัวอย่างของแบรนด์ที่กลยุทธ์ในลักษณะของ Multidomestic Strategy คือรายการ MTV ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แทนที่จะใช้รูปแบบอเมริกันกับรายการ MTV ในทุกประเทศทั่วโลก
ในส่วนของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้กลยุทธ์แบบ Multidomestic Strategy คือ Pepsi ที่มีหลายรสชาติแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นที่มีกลิ่นซากุระ ซึ่งเป็นกลิ่นที่มีขายเฉพาะที่ญี่ปุ่นเป็นหลัก
ข้อได้เปรียบของ Multidomestic Strategy
ข้อได้เปรียบของ Multidomestic Strategy คือ การปรับตัวเข้าหาความแตกต่างในแต่ละประเทศอย่างถึงที่สุด (ในรูปแบบของ Local-first) ทำให้ธุรกิจได้ประโยชน์ ดังนี้
สินค้าเป็นไปตามความต้องการที่แตกต่างกันในตลาดแต่ละประเทศ จากการที่สามารถปรับแต่งสินค้าให้แตกต่างและเหมาะสมตามความต้องการในแต่ละประเทศ
ลดความผิดพลาดจากความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทั้งด้านค่านิยม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา การเมือง และสังคม
ตัดสินใจในระดับประเทศได้อย่างรวดเร็ว จากการที่ในแต่ละประเทศมีบริษัทสาขาควบคุมโดยตรง ทำให้การตัดสินใจในระดับสาขาสามารถทำได้ทันที
ได้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของแต่ละท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และค่าแรงในประเทศนั้น ๆ
ข้อจำกัดของ Multidomestic Strategy
ข้อจำกัดของกลยุทธ์ Multidomestic Strategy คือ เป็นกลยุทธ์ที่จะเหมาะกับสินค้าหรือบริการที่กำไรต่อหน่วยสูง เนื่องจากการใช้กลยุทธ์ Multidomestic Strategy มีต้นทุนที่สูงจากการที่ต้องปรับผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เหมาะกับทุก ๆ ประเทศ โดยการยอมทิ้งข้อได้เปรียบในเรื่องของการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
ไม่ว่าจะเป็นการทำบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ กระบวนการผลิตแบบใหม่ การปรับปรุงสูตรให้ถูกใจลูกค้าในแต่ละประเทศ โลโก้ วิธีให้บริการ และฉลาก เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดคือสิ่งที่บริษัทจะต้องลงทุนใหม่ทุกครั้งที่เข้าสู่ประเทศใหม่