Net Profit Margin คืออะไร?
Net Profit Margin คือ อัตรากำไรสุทธิ เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เกิดจากการนำกำไรสุทธิ (Net Profit) มาหารด้วยยอดขาย (Sales) เพื่อวัดความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจว่าธุรกิจสามารถทำกำไรได้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ทำให้รู้จักกันในอีกชื่อคืออัตราส่วนกำไรสุทธิ
การคำนวณ Net Profit Margin หรืออัตรากำไรสุทธิ สามารถคำนวณได้จากการนำกำไรสุทธิหารด้วยยอดขาย ซึ่งตัวเลขทั้ง 2 มาจากงบกำไรขาดทุน (Income Statement) โดยสามารถเขียนสมการสูตร Net Profit Margin ได้ดังนี้ Net Profit Margin = กำไรสุทธิ ÷ ยอดขาย
โดยค่า Net Profit Margin ที่คำนวณออกมาได้จะมีหน่วยเป็น “เท่า” ที่แสดงว่ากำไรสุทธิเป็นกี่เท่าของยอดขาย
แต่ในกรณีที่ต้องการทราบหน่วยเป็น “เปอร์เซ็นต์” สามารถทำได้โดยการนำคำตอบที่ได้ x 100 เพื่อแสดงว่ากำไรสุทธิคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย
Net Profit Margin% = กำไรสุทธิ ÷ ยอดขาย x 100
อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) บอกอะไร
Net Profit Margin เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางการเงินในการวัดว่าบริษัทสามารถสร้างกำไรสุทธิ (Net Profit) ที่เป็นกำไรหลักหักค่าใช้จ่ายทุกอย่าง (รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล) ออกไปแล้ว เหลือกำไรสุทธิกี่เปอร์เซ็นต์จากยอดขายที่ขายออกไปได้
ดังนั้น ค่า Net Profit Margin ที่ได้ควรเป็นค่าที่มากเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่ง ผลการดำเนินงานในอดีต หรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจอยู่
โดยผลจากการวิเคราะห์ Net Profit Margin หรืออัตรากำไรสุทธิ สามารถแปลความหมายได้ ดังนี้
ค่าที่สูงกว่า หมายความว่า บริษัทมีอัตราการทำกำไรสุทธิที่สูงกว่า จากการที่บริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า
ค่าที่ต่ำกว่า หมายความว่า บริษัทมีอัตราการทำกำไรสุทธิที่ต่ำกว่า จากการที่บริษัทควบคุมค่าใช้จ่ายได้แย่กว่า หรืออาจควบคุมค่าใช้จ่ายได้ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เมื่อหักค่าใช้จ่ายออกไปแล้วเหลือกำไรสุทธิไม่มากเท่าที่ควร
ตัวอย่างการคำนวณอัตรากำไรสุทธิ
สมมติว่า บริษัท A มียอดขาย 1,000,000 บาท และมีกำไรสุทธิ 250,000 บาท โดยที่ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเดียวกับที่บริษัท A ดำเนินกิจการมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยู่ที่ 30%
Net Profit Margin = (250,000 ÷ 1,000,000) x 100 = 25 %
สรุป จากตัวอย่างจะพบว่ายอดขายในทุก 100 บาท บริษัท A จะได้กำไรสุทธิทั้งหมด 25 บาท (หรือกำไรสุทธิคิดเป็น 0.25 เท่าของยอดขาย) ซึ่งต่างจากค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม 5% ซึ่งอาจเป็นเพราะบริษัท A บริหารต้นทุนได้ต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม หรือในอีกความหมายคือบริษัทมีต้นทุนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ