Non Bank คือ คำที่ใช้เรียกผู้ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือธนาคาร (Bank) โดยส่วนใหญ่ Non Bank คือ บริษัทจดทะเบียน ที่จดทะเบียนอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถเข้ามาควบคุม Non-Bank ได้โดยตรง
ถ้าให้อธิบายให้ง่ายกว่านั้น Non Bank คือ ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินนั่นเอง ซึ่งรายละเอียดแบบลงลึกจะอธิบายในส่วนถัดไป
สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารหรือ Non Bank ที่อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ จะมีอยู่ทั้งหมด 5 กลุ่ม ได้แก่
- ผู้ให้บริการบัตรเครดิต
- ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
- ผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสำหรับบุคคลรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์)
- ผู้ให้บริการ e-Payment
- ผู้ให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนเงินหรือโอนเงินตราต่างประเทศ
ตัวอย่างง่าย ๆ ของ Non Bank คือ บัตรกดเงินสด บัตรเติมเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้า และการแลกเงินตราต่างประเทศจากร้านรับแลกเงิน
ดูข้อมูลรายชื่อ Non-Bank ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ทั้งหมดได้ที่ เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
Non Bank ที่ให้บริการบัตรเครดิต
ความหมายของ ผู้ให้บริการบัตรเครดิต คือ นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบัตรเครดิต อย่างเช่น บัตรเครดิตของห้างสรรพสินค้า
โดยที่ Non Bank ที่เป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วอย่างน้อย 100 ล้านบาท
สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ คือ Non Bank ที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดา โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับนำไปซื้อสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่จะไม่ถึงรวมการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์
โดยผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ จะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วอย่างน้อย 50 ล้านบาท
สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสำหรับรายย่อย
สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสำหรับบุคคลรายย่อย หรือ นาโนไฟแนนซ์ คือ นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดาโดยไม่มีหลักประกัน เพื่อนำไปให้บุคคลรายย่อยใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ
โดยผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสำหรับบุคคลรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 50 ล้านบาท
ผู้ให้บริการ e-Payment
ผู้ให้บริการ e-Payment คือ บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551
โดยจะแบ่ง Non Bank ที่เป็น ผู้ให้บริการ e-Payment แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบตามประเภทของการขออนุญาต ได้แก่ บัญชี ก ข และ ค
บัญชี ก – ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบก่อนให้บริการ
ผู้ให้บริการ e-Payment แบบบัญชี ก คือ e-Payment สำหรับใช้ซื้อสินค้าเฉพาะตามที่กำหนดไว้จากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ตัวอย่างเช่น บัตรที่ใช้ซื้ออาหารในศูนย์อาหาร
บัญชี ข – บริการที่ต้องขอขึ้นทะเบียนก่อนให้บริการ
สำหรับบริการทางการเงินที่จะต้องขอขึ้นทะเบียนก่อนให้บริการ ได้แก่ เครือข่ายบัตรเครดิต บริการเครือข่ายอีดีซี (รับส่งข้อมูลระหว่างเครื่องรับบัตรกับผู้ออกบัตร) บริการสวิตช์ชิ่ง บริการ e-payment สำหรับซื้อสินค้าที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ให้บริการหลายราย ณ สถานที่ที่อยู่ภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและการให้บริการเดียวกัน ตัวอย่างเช่น บัตรที่ใช้ซื้อตั๋วภาพยนตร์และสินค้าอื่นที่ขายอยู่ที่โรงภาพยนตร์ในเครือเดียวกัน
บัญชี ค – บริการที่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนให้บริการ
บริการ e-Payment ของธุรกิจการให้บริการหักบัญชี การให้บริการชำระดุล บริการชำระเงินแทน การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ซื้อสินค้าตามรายการที่กำหนดล่วงหน้าจากผู้ให้บริการหลายรายโดยไม่จำกัดสถานที่และระบบการจัดจำหน่าย ตัวอย่างเช่น บัตรที่ใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าและสินค้าในร้านค้าที่ร่วมรายการ
บริการแลกเปลี่ยนเงินหรือโอนเงินตราต่างประเทศ
ผู้ให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนเงินหรือโอนเงินตราต่างประเทศ คือ นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากให้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ได้แก่
บุคคลรับอนุญาต (Authorized Money Changer) คือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจซื้อและขายธนบัตรต่างประเทศและรับซื้อเช็คเดินทาง
ตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Agent) คือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจการโอนและรับโอนเงินตราต่างประเทศ เพื่อจ่ายเงินบาทให้ผู้รับในประเทศโดยไม่จำกัดจำนวน