NPA คืออะไร?
NPA คือ Non-Performing Asset หมายถึง สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เป็นประเภทของสินทรัพย์ค้ำประกันที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหรือเงินต้นครบ 90 วัน ซึ่งถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้และทำให้สินทรัพย์ดังกล่าวของผู้กู้กลายเป็นสินทรัพย์รอการขาย หรือ NPA
กล่าวคือ NPA หรือ สินทรัพย์รอการขาย เป็นสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินได้กรรมสิทธิ์จากการชำระหนี้ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ลูกหนี้ใช้เป็นหลักประกันการกู้เงินแต่สินทรัพย์ดังกล่าวหลุดจำนอง หรือเงินกู้ดังกล่าวกลายเป็น NPL (Non Performing Loan) สินทรัพย์ดังกล่าวจึงกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารหรือสถาบันการเงินในฐานะ NPA
เมื่อสินทรัพย์กลายเป็น NPA (Non-Performing Asset) สถาบันการเงินจะพยายามขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไปเพื่อเปลี่ยนเป็นสภาพคล่องหรือเงินสดเพื่อนำมาทดแทนหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งตามกฏหมายธนาคารต้องขายสินทรัพย์รอการขายหรือ NPA ออกไปภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ได้รับกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์
จากการที่สินทรัพย์ดังกล่าว ธนาคารหรือสถาบันการเงินไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้จนกว่าจะนำไปขาย จึงเรียกว่า สินทรัพย์รอขาย หรือ NPA (Non Performing Asset)
โดยทั่วไปสินทรัพย์รอการขายหรือ NPA มักจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ อย่างเช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโด อาคารพาณิชย์ และที่ดินเปล่าที่ผู้กู้นำมาจำนองกับสถาบันการเงิน และทรัพย์สินอื่น อย่างเช่น รถยนต์ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ
ทั้งนี้ เกณฑ์ในการนับว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ที่จะทำให้หลักทรัพย์ค้ำประกันหรือสินทรัพย์กลายเป็น Non-Performing Asset หรือ NPA คือสิ่งที่แตกต่างกันไปตามกฎหมายแต่ละประเทศ สำหรับปัจจุบันในประเทศไทยคือระยะเวลา 90 วัน (3 เดือน)
ปัญหาของ NPA ต่อระบบการเงิน
ในมุมมองด้านเศรษฐกิจ NPA ยังถูกใช้ในการประเมินความเสี่ยงของสถาบันการเงินและระบบการเงินโดยรวม เนื่องจาก สาเหตุที่ทำให้สินทรัพย์กลายเป็น NPA นั้นคือการที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ ในขณะ NPA เป็นสิ่งที่แม้จะมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ แต่ธนาคารเองก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จนกว่าจะแปลง NPA หรือสินทรัพย์รอการขายเหล่านั้นเป็นเงิน
นั่นหมายถึงการที่ NPA เป็นเงินทุนของสถาบันการเงินที่จะจมไปจนกว่าจะสามารถแปลงสินทรัพย์รอการขายเป็นเงินได้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการขายไม่มากก็น้อย
ปัญหา NPA ดังกล่าวเมื่อส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินอย่างรุนแรงอาจทำให้สถาบันการเงินขาดทุนและอาจนำไปสู่การล้มละลายได้ สถาบันการเงินจึงมักจะมีมาตรการป้องกันปัญหา NPA อย่างเช่น การพิจารณาให้สินเชื่ออย่างรอบคอบ กำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมที่รัดกุม และการติดตามทวงหนี้อย่างเข้มงวด เป็นต้น
ทำไมสินทรัพย์รอการขายได้รับความสนใจ
ปัจจุบัน นักลงทุนไม่น้อยสนใจในการลงทุนด้วยการซื้อสินทรัพย์รอการขายจากธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายผ่านเว็บไซต์ของธนาคารหรือบริษัทบริหารหลักทรัพย์ โดยเหตุผลที่สินทรัพย์รอการขายหรือ NPA ได้รับความสนใจจะเกี่ยวข้องกับ 3 เหตุผล ได้แก่
ราคาต่ำกว่าราคาตลาด จากการที่ธนาคารจำเป็นที่จะต้องขายออกไปให้ได้ตามเงื่อนไขทางกฎหมาย ทำให้หลายครั้งธนาคารจำเป็นต้องตั้งราคาให้ต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์ที่จะขาย
ทำเลดี เนื่องจากสินทรัพย์รอขายเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ที่นำมาใช้ค้ำประกัน ทำให้ส่วนมากจะเป็นสินทรัพย์ที่ทำเลดี (ในขณะที่สินทรัพย์ที่ทำเลไม่ดีธนาคารมักจะไม่ยอดให้นำมาใช้ค้ำประกัน) ในขณะที่ถ้าหากว่าเป็นสินทรัพย์ประเภทอาคารพาณิชย์ก็มักจะตั้งอยู่ในทำเลที่ดีอยู่แล้ว
เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพประมาณหนึ่ง เพราะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เหมือนถูกธนาคารคัดเลือกและประเมินมาให้แล้วในระดับหนึ่ง (แต่ยังคงต้องประเมินด้วยตนเองอีกครั้งเช่นกัน)
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA ควรทราบว่า NPA มีความเสี่ยงโดยธรรมชาติ คือ การที่ไม่การรับประกันการทำกำไรจากตัวสินทรัพย์ เนื่องจากการทำกำไรขึ้นอยู่กับการนำไปขายหรือให้เช่าต่อ อีกทั้งยังควรตรวจสอบสินทรัพย์รอการขายที่จะซื้ออย่างถี่ถ้วนในฐานะทรัพย์สินมือ 2 (หรือมากกว่า) และควรมีผู้เชี่ยวชาญในสินทรัพย์ดังกล่าวช่วยประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ปรับปรุง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ