NPL คืออะไร?
NPL คือ สินเชื่อด้อยคุณภาพหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) เป็นสินเชื่อที่นอกจากจะไม่ทำให้เกิดกำไรกับผู้ปล่อยกู้ อีกทั้งยังทำให้ผู้ปล่อยกู้สูญเงินต้นที่ปล่อยกู้ไปด้วย ซึ่งเป็นผลจากการค้างชำระหนี้หรือผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้
โดย Non Performing Loan หรือ NPL ตามความหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อธิบายไว้ว่า NPL หมายถึง สินเชื่อที่ค้างชำระมากกว่า 90 วันติดต่อกัน (3 เดือนติดต่อกัน) เรียกว่า อยู่ในช่วงของการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งนำไปสู่การถูกยึดสินทรัพย์ที่ผู้กู้ใช้เป็นหลักประกันและสินทรัพย์ดังกล่าวกลายเป็น NPA (Non Performing Asset)
กล่าวคือ NPL (Non-Performing Loan) เป็นหนี้เสียที่ลูกหนี้ไม่จ่ายเมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้มากกว่า 3 เดือนติดต่อกันนั่นเอง และในมุมของลูกหนี้คือสถานะผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้
ตัวเลข NPL ในระบบเศรษฐกิจหนึ่งเป็นตัวเลขที่รวบรวมมากจากหนี้ที่ค้างชำระและผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ตัวเลข NPL จึงเป็นตัวเลขที่จะบอกความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในภาพรวมของทั้งเศรษฐกิจดังกล่าว หาก NPL มีค่าสูง หมายความว่า ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก และในทางกลับกันหากตัวเลข NPL มีค่าต่ำ หมายความว่า ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนน้อย
โดยในประเทศไทยผู้ที่รวบรวมข้อมูล NPL คือธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ซึ่งการรวบรวมตัวเลข NPL หรือหนี้เสียเหล่านี้มาจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วนำตัวเลข NPL (Non Performing Loan) ที่ได้มารวมกันเป็นมูลค่าทั้งระบบ
สามารถติดตามมูลค่า NPL ในประเทศไทยได้ที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ซึ่งจะรายงานมูลค่าหนี้เสีย NPL ของไทย โดยแบ่งเป็น Gross NPL และ Net NPL ซึ่งมีการจำแนกข้อมูลตามการแบ่งกลุ่มของข้อมูล
- Gross NPL คือยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ทั้งหมด
- Net NPL คือยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพหลังหักยอดตั้งสำรองของสถาบันการเงินออกแล้ว
หมายเหตุ: เนื่องจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับปรุง ทำให้ปัจจุบันเรายังคงหาหน้าสถิติ Net NPL ไม่พบ
ตัวเลข NPL บอกอะไร?
ตัวเลข Non-Performing Loan หรือ NPL ของระบบเศรษฐกิจหนึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้เป็นดัชนีแสดงถึงการผิดนัดชำระหนี้ เพราะตัวเลข Non Performing Loan เกิดจากลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
ดังนั้น การที่ตัวเลข NPL เพิ่มสูงขึ้น หมายถึง การที่ลูกหนี้จำนวนมากผิดนัดชำระหนี้ ณ ขณะนั้น และแนวโน้มของการที่ลูกหนี้มีโอกาสจะไม่จ่ายหนี้สูงในช่วงเวลาดังกล่าว ในทางกลับกันถ้าหากตัวเลข NPL อยู่ในระดับที่ต่ำ หมายถึง มีการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ
ในส่วนนี้ทำให้ผู้ปล่อยเงินกู้อย่างเช่น ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ จะรู้สึกไม่อยากปล่อยกู้ในช่วงที่ตัวเลข NPL สูง เพราะกลัวเงินกู้ดังกล่าวจะกลายเป็นหนี้เสีย เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริงธนาคารและสถาบันการเงินเหล่านี้ก็จะเข้มงวดกับการปล่อยกู้มากขึ้นตามตัวเลข NPL ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ตัวเลข NPL ที่สูงขึ้นดังกล่าวก็อาจส่งสัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ถดถอยได้ด้วย เพราะตามปกติลูกหนี้จะพยายามหาเงินมาจ่ายหนี้อยู่แล้วเพื่อป้องกันการถูกยึดทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
การที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก อาจไม่ใช่ว่าลูกหนี้ไม่อยากจ่าย แต่อาจเป็นเพราะจ่ายไม่ได้ ซึ่งอาจจะสะท้อนได้ว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจนั้น ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ อย่างเช่น การไม่มีเงินจากการไม่มีงาน
ด้วยเหตุผลเหล่านั้นทำให้ NPL เป็นตัวเลขที่ถูกนำมาใช้วัดแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้โดยรวม ซึ่งจะสามารถสะท้อนรายได้ของผู้บริโภคในประเทศโดยรวม และเป็นตัวเลขที่สถาบันการเงินใช้ประมาณการแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้
ใครได้รับผลกระทบจาก NPL สูง
เมื่อธนาคารกลัวการผิดนัดชำระหนี้จากการที่ตัวเลข NPL (Non-Performing Loan) อยู่ในระดับที่สูง ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้ที่ต้องการจะกู้เงิน เพราะจะกู้เงินได้ยากขึ้นในช่วงที่ตัวเลขหนี้ NPL อยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากผู้ปล่อยกู้ต้องการป้องกันการผิดนัดชำระหนี้
สิ่งที่สถาบันการเงินมักจะทำเมื่อหนี้ NPL สูง คือการปล่อยกู้ที่ยากขึ้นด้วยหลากหลายวิธีในการคัดกรอง ตัวอย่างเช่น
การปล่อยกู้มีขั้นตอนมากขึ้น และมีการตรวจสอบมากขึ้น เพราะธนาคารจำเป็นต้องคัดกรองลูกหนี้ให้ดี ไม่ได้ปล่อยกู้ง่ายเหมือนตอนช่วงอยากให้กู้
ลูกหนี้กลุ่มรายได้น้อยและกลุ่มรายได้ปานกลางกู้เงินยากขึ้น เหตุผลคือคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียอยู่สูงเพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงนัก
ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อหากำไรเพิ่มและเพื่อการทดแทนในส่วนที่อาจจะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งในช่วงนี้สถาบันการเงินมักจะมีการออก Promotion เงินกู้น้อยลง
NPL กับ NPA
NPL (Non Performing Loan) กับ NPA (Non Performing Asset) เป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทั้ง NPL และ NPA เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกัน
เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ หนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวจะกลายเป็นหนี้เสียที่เรียกว่า NPL (Non Performing Loan) ซึ่งจะทำให้หลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน หรือรถยนต์ ถูกยึดกลายเป็นสินทรัพย์รอการขาย ซึ่งเรียกว่า NPA (Non Performing Asset)