Obsolete Inventory คืออะไร?
Obsolete Inventory คือ สินค้าล้าสมัย เป็นสินค้าคงคลังที่ธุรกิจไม่มีแผนที่จะขายหรือนำมาใช้ในการผลิตอีกต่อไป เนื่องจากสินค้าคงคลังเหล่านั้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป ขายออกยาก มีสินค้าที่ดีกว่าที่มาแทน หรือผลิตออกมามากเกินความต้องการซื้อ
เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทำให้สินค้าล้าสมัย (Obsolete Inventory) เหล่านี้ยากต่อการขายออกเพื่อทำกำไร ขายทุน หรือแม้กระทั่งขายให้ออกให้หมดไปจากคลัง
ส่งผลให้ Obsolete Inventory เหล่านี้จะยังคงอยู่ในคลังสินค้าต่อไปจนกว่าจะถูกทำลายหรือขายออก นั่นหมายถึงต้นทุนในการเก็บรักษาและจัดการสินค้าคงคลังล้าสมัยเหล่านี้ไปจนกว่าสินค้าคงคลังเหล่านี้จะหมดไป
ด้วยเหตุนี้ทำให้ Obsolete Inventory คือสิ่งที่กลายเป็นภาระทางการเงินที่สำคัญของธุรกิจที่ทำให้ธุรกิจเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) จากการไม่สามารถนำเงินทุนไปทำสิ่งอื่นที่สามารถสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้
สินค้าล้าสมัย (Obsolete Inventory) เกิดจากอะไรได้บ้าง?
โดยพื้นฐาน Obsolete Inventory คือสินค้าที่เกิดจากการที่สินค้านั้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเท่าเดิมอีกต่อไป ทำให้สินค้าล้าสมัยหรือ Obsolete Inventory ที่เกิดขึ้นมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ สินค้าล้าสมัยที่ขายได้น้อยลง และสินค้าล้าสมัยที่ขายเกือบจะไม่ได้หรือไม่ได้เลย
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้สินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเท่าเดิมมีอยู่หลายเหตุผล ตัวอย่างเช่น:
- เทคโนโลยีที่ดีกว่ามากในสินค้าประเภทเดียวกันในราคาใกล้เคียงกัน หรือไม่ต่างกันมาก
- สินค้ากระแสที่หมดกระแส
- สินค้าตามฤดูกาลที่หมดฤดูกาล
จะเห็นว่าเมื่อความต้องการซื้อสินค้า (Demand) ลดลงด้วยเหตุผลเหล่านั้น แต่บริษัทยังคงสั่งสินค้ามาเก็บไว้เพื่อผลิตหรือเพื่อขายในปริมาณเท่าเดิมก็จะทำให้สินค้าเหล่านั้นใช้หรือขายไม่ทันและกลายเป็น Obsolete Inventory ในที่สุด
ปัญหาของ Obsolete Inventory
ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัท: ตามที่ได้อธิบายในตอนต้น Obsolete Inventory จะทำให้กระแสเงินสดของธุรกิจจมอยู่กับสินค้าล้าสมัยเหล่านั้น ซึ่งทำให้ธุรกิจไม่สามารถนำเงินทุนไปใช้สำหรับการลงทุนที่ให้ผลกำไรได้ดีกว่าได้ และในกรณีที่แย่กว่านั้นคือเงินลงทุนที่กู้ยืมมาก็จะทำให้ธุรกิจมีภาระจากต้นทุนดอกเบี้ยอีกด้วย
ต้นทุนในการจัดการคลังสินค้า: การเก็บรักษา Obsolete Inventory จำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่คลังสินค้าเพื่อจัดเก็บสินค้า ซึ่งสิ่งนี้สามารถนำไปสู่ต้นทุนในการจัดเก็บ การจัดการ และค่าบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ได้ประโยชน์เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่สามารถทำกำไรได้
กำไรลดลง (และขายได้ในตลาดที่จำกัด): สินค้าคงคลังที่ล้าสมัยจะผูกมัดทรัพยากรและอาจทำให้กำไรลดลง เนื่องจากอาจขายไม่ได้หรืออาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ในตลาดที่จำกัด นอกเหนือจากนั้น สินค้าคงคลังที่ล้าสมัยอาจสูญเสียมูลค่าเมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้ขายได้ยาก
โอกาสที่ธุรกิจจะได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง: ในกรณีที่ Obsolete Inventory ที่ไม่ได้ขายไม่ออกเสียทีเดียว (แต่ขายออกช้า) อาจทำให้ธุรกิจส่งมอบสินค้าที่หมดอายุหรือไม่มีคุณภาพให้กับลูกค้า ซึ่งอาจทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเสียหายและนำไปสู่ปัญหาการรับผิดชอบสินค้า (Reverse Logistics) หรือปัญหาทางกฎหมายตามมาได้
ความยากในการคาดการณ์: การที่ธุรกิจเก็บ Obsolete Inventory เอาไว้ ทำให้บริษัทคาดการณ์ความต้องการและวางแผนการผลิตหรือจัดซื้อในอนาคตได้อย่างแม่นยำได้ยาก
ทำอย่างไรกับสินค้าล้าสมัยได้บ้าง?
ในการหลีกเลี่ยงปัญหา Obsolete Inventory โดยทั่วไปจะใช้เทคนิคในการจัดการสินค้าคงคลังรูปแบบต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการผลิตหรือสั่งซื้อสินค้ามาเก็บเอาไว้มากเกินไป เพราะโดยส่วนใหญ่ปัญหาสินค้าคงคลังล้าสมัย (Obsolete Inventory) มักจะเกิดจากการสั่งซื้อสินค้ามาเก็บเอาไว้มากเกินไปมากกว่าเกิดจากปัญหาปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้
ตัวอย่างเช่น วิธีการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time) ที่ไม่เก็บสินค้าคงคลัง, การติดตามเพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตของตลาดอย่างใกล้ชิด, การทบทวนระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ, และการหาปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดที่สุด (Economic Order Quantity : EOQ) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ปัญหา Obsolete Inventory เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้น โดยทั่วไปวิธีที่ใช้ในการจัดการกับสินค้าคงคลังล้าสมัยหรือ Obsolete Inventory คือการขายออกด้วยราคาเท่าทุน ขายขาดทุน หรือแม้กระทั่งทำลายทิ้งในกรณีที่ประเมินแล้วพบว่าไม่คุ้มที่จะเก็บรักษาสินค้าเอาไว้
ทั้งนี้วิธีเหล่านี้อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับ Obsolete Inventory หรือสินค้าล้าสมัย เนื่องจากขึ้นอยู่กับรูปแบบของสาเหตุที่นำมาสู่ปัญหา Obsolete Inventory ที่แตกต่างกันในแต่ละธุรกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง