GreedisGoods » Business » OEM คืออะไร? สินค้า OEM ใช่ของแท้หรือเปล่า

OEM คืออะไร? สินค้า OEM ใช่ของแท้หรือเปล่า

by Kris Piroj
OEM คือ สินค้า OEM ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer คือ การผลิต โรงงาน OEM หมายถึง

OEM คืออะไร?

OEM คือ ชื่อย่อของ Original Equipment Manufacturer หมายถึง การจ้างผลิตสินค้าสำเร็จรูปหรือชิ้นส่วนสินค้าตามความต้องการของแบรนด์ที่เป็นผู้ว่าจ้างได้กำหนดมาตรฐานเอาไว้ เพื่อนำสินค้า OEM ที่จ้างผลิตไปผลิตต่อเป็นสินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) หรือแปะตราสินค้าของแบรนด์เพื่อวางขาย

กล่าวคือ สินค้า OEM (Original Equipment Manufacturer) เป็นการจ้างผลิตตามสเป็คที่ลูกค้าต้องการนั่นเอง เพื่อนำสินค้าที่ผลิตไปแปะโลโก้แบรนด์ตัวเองขายหรือนำไปประกอบเป็นสินค้า

ถึงแม้ว่าการจ้างผลิต สินค้า OEM คือวิธีที่สร้างความสะดวกให้กับแบรนด์ แต่ก็เป็นวิธีที่มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ความรู้ในการผลิต (Know How) จะรั่วไหลออกไปสู่คู่แข่งผ่านทาง โรงงาน OEM ที่แบรนด์จ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดสินค้าเลียนแบบตามมาอย่างรวดเร็ว

ทำให้การจ้างผลิตสินค้าโดยจ้างโรงงาน OEM เป็นวิธีที่จะเหมาะกับสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีแบบเก่าหรือเทคโนโลยีพื้นฐานที่ใครก็รู้วิธีผลิตอยู่แล้วมากกว่าสินค้าที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ เพื่อความปลอดภัยจากการถูกลอกเลียนแบบนวัตกรรม (Innovation)

ความได้เปรียบของสินค้า OEM คืออะไร?

ประโยชน์หลักของจ้างโรงงาน OEM คือความสะดวกและต้นทุนที่ลดลงจากการที่แบรนด์ไม่ต้องตั้งโรงงานผลิตสินค้าเอง ซึ่งการที่แบรนด์ไม่ต้องตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเองจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขันดังต่อไปนี้:

ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำกว่า ในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง บางครั้งจำนวนของสินค้าที่สามารถขายได้อาจไม่คุ้มค่าในกรณีที่ต้องตั้งโรงงานขึ้นมาผลิตสินค้าเองหรืออาจจะใช้ระยะเวลาคืนทุนที่นานเกินไป

ไม่ต้องใช้เงินทุนในการเริ่มต้นลงทุนที่สูง เนื่องจากการจ้างโรงงาน OEM เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเอง ทำให้ธุรกิจไม่ต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ที่มีภาระดอกเบี้ยและกลายเป็นต้นทุนจม (Sunk Cost) จนกว่าจะคืนกำไร แลกกับต้นทุนต่อหน่วยที่สูงกว่าการผลิตเอง

สามารถย้ายฐานการผลิตไปยังโรงงาน OEM ที่ต้นทุนต่ำกว่าได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีพันธะผูกพันเหมือนกับการตั้งโรงงานขึ้นมาเอง ทำให้เมื่อพบว่าไม่ถูกใจคุณภาพของโรงงาน OEM หนึ่ง จะสามารถเปลี่ยนไปหาโรงงาน OEM อีกแห่งหนึ่งได้ทุกเมื่อ

ง่ายต่อการเปลี่ยนลักษณะหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกผลิต การปรับสินค้า การผลิตสินค้าแบบใหม่ ทั้งหมดสามารถทำได้ง่ายๆ เพราะเจ้าของแบรนด์ไม่มีโรงงานเป็นของตัวเองและบริษัท OEM ที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วเป็นผู้จัดการให้

ข้อดีของธุรกิจรับผลิต OEM

นอกจากการที่แบรนด์จ้างโรงงาน OEM ผลิตสินค้าจะได้ประโยชน์แล้ว ทางฝ่ายบริษัทรับผลิตสินค้า OEM ก็ได้ประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าในลักษณะ OEM ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  1. ไม่ต้องลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ เพราะเป็นแค่การผลิตสินค้าตามที่ลูกค้าสั่ง (แต่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่รับผลิต)
  2. ไม่ต้องโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้า เพราะไม่ได้ขายสินค้าเอง (อาจจะมีการโฆษณาให้กับลูกค้าองค์กรที่ต้องการจ้างผลิตแบบ OEM)
  3. ไม่ต้องคอยแสวงหาตลาดผู้บริโภค สิ่งที่บริษัทต้องหามีเพียงคู่ค้าที่เป็นแบรนด์ในลักษณะของ B2B หรือ Business to Business

ตัวอย่างสินค้า OEM ในชีวิตประจำวัน

สินค้า OEM เป็นสินค้าจ้างผลิตที่สามารถพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ลองมาดูตัวอย่างสินค้าที่จ้างผลิตแบบ OEM หรือ Original Equipment Manufacturer ที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง

ครีมตาม Facebook หรือ ครีมกิโล OEM – รู้หรือไม่ว่าครีมที่ขายเต็มไปหมดบน Facebook หรือ Instagram ส่วนมากเป็นสินค้า OEM ที่แบรนด์จะจ้างผลิต “ครีม” เหล่านั้นแบบ OEM แล้วนำครีมมาติดฉลากแบรนด์ของตัวเองขาย นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม Facebook ของหลายคนที่ขายครีมมักจะเขียนว่าเป็นเจ้าของแบรนด์ ทั้งที่ไม่เคยโพสภาพเกี่ยวกับโรงงานหรือพูดถึงเรื่องโรงงานเลย (ทั้งที่ปกติอวดทุกอย่างก็ตาม)

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น หูฟัง (โดยเฉพาะ Brand ที่ Made In China) – หลายแบรนด์มักจะใช้การจ้าง โรงงาน OEM ผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศแถบนั้น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากการส่งสินค้ามาจากอีกซีกโลก

สินค้า House Brand (สินค้าแบรนด์ของห้าง) – สินค้าแบรนด์ของห้างที่วางขายคู่กับแบรนด์ติดตลาด มักจะจ้างโรงงานเดียวกับสินค้าแบรนด์คุ้นหูในการผลิตสินค้าเพื่อนำมาวางขายจับกลุ่มลูกค้าที่ชอบสินค้าราคาถูก


สรุป Original Equipment Manufacturer หรือ OEM เป็นสินค้าที่เป็นของแท้ เพียงแต่แบรนด์ไม่ได้ผลิตเอง (ในกรณีที่ไม่ได้ถูกแอบอ้างชื่อ) หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น OEM คือ การจ้างบริษัทผลิตสินค้าตามสเป็ค เพื่อนำมาแปะโลโก้ขายภายใต้แบรนด์ของบริษัท โดยที่บริษัทไม่ต้องมีแม้แต่โรงงานผลิต

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด