ตลาดผู้ขายน้อยราย คืออะไร?
ตลาดผู้ขายน้อยราย คือ ตลาดที่มีผู้ขายน้อยรายควบคุมส่วนแบ่งการตลาดส่วนใหญ่ของสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการหรือแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยสาเหตุที่ทำให้มีผู้ขายน้อยรายมาจากการที่ตลาดดังกล่าวมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดที่ยากจะทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด
ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) เป็นตลาดที่มีลักษณะเดียวกับตลาดผูกขาย (Monopoly) เพียงแต่ตลาดผู้ขายน้อยรายจะมีผู้เล่นมากกว่า 1 ราย โดยตลาดผู้ขายน้อยรายอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามจำนวนผู้เล่นในตลาด เช่น ตลาดที่มีผู้เล่น 3 รายเรียกว่า Triopoly และตลาดที่มีผู้เล่น 2 รายเรียกว่า Duopoly
ตัวอย่างสินค้าและบริการในตลาดผู้ขายน้อยราย ได้แก่ สายการบิน โรงภาพยนตร์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ตลาดน้ำมันดิบ และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
โดยทั่วไประดับราคาสินค้าในตลาดผู้ขายน้อยรายมักจะมีระดับราคาที่ใกล้เคียงแทบไม่ต่างกัน ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะผู้ขายไม่มีอำนาจเหนือตลาดเหมือนในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) แต่เป็นเพราะการดำเนินกลยุทธ์ด้านราคา (Pricing Strategy) ของผู้เล่นในตลาดผู้ขายน้อยรายจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน
กล่าวคือ การแข่งขันด้วยราคาในตลาดของแบรนด์นึงจะส่งผลอีกแบรนด์หนึ่ง เช่น การลดราคาเพื่อเพิ่มยอดขายจะทำให้ยอดขายอีกฝ่ายลดลง เมื่อยอดขายอีกฝ่ายลดลงก็จะลดราคาลงตามเพื่อกระตุ้นยอดขายเช่นกัน ทำให้ฝ่ายที่เริ่มลดราคาก่อนได้ยอดขายไม่คุ้มกับการลดราคาอยู่ดี
ทั้งหมดส่งผลให้ราคาสินค้าหรือบริการในตลาดนี้มักเป็นราคาที่ตายตัว (Price Rigidity)
ลักษณะของตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)
มีบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ตลาดผู้ขายน้อยรายเป็นตลาดที่ถูกครอบงำโดยผู้เล่นขนาดใหญ่จำนวนน้อยที่มีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) อย่างมาก ในระดับที่เกิน 50-75%
สินค้าที่ขายเหมือนกันทุกประการ หรือต่างกันเล็กน้อย ทำให้ผู้ซื้อไม่มีทางเลือกอื่น
มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะได้กำไรสูงหอมหวานเพียงใดก็ยากที่ผู้เล่นรายใหม่จะเข้ามาเล่นด้วย โดยอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอาจเป็นเพราะเงินลงทุนตั้งต้น หรือการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่ผู้เล่นใหม่ไม่มีทางตามได้ทันก็ตาม
การดำเนินกลยุทธ์ของแต่ผู้เล่นส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เช่น การลดราคาของแบรนด์นึงจะส่งผลอีกแบรนด์นึง หรือการที่แบรนด์นึงทำเรื่องให้สังคมไม่พอใจผู้ซื้อก็จะย้ายไปหาอีกแบรนด์
ราคาสินค้าตายตัว (Price Rigidity) ราคาสินค้าในตลาดผู้ขายน้อยรายมักจะไม่เปลี่ยนแปลงง่าย เนื่องจากผู้เล่นในตลาดผู้ขายน้อยรายมักต้องการหลีกเลี่ยงสงครามราคา ทำให้บริษัทมักแข่งขันกับปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ราคา เช่น คุณภาพ นวัตกรรม และการบริการลูกค้า
กลยุทธ์จะส่งผลกระทบระหว่างกัน เช่น การลดราคาเพื่อเพิ่มยอดขายจะทำให้ยอดขายอีกฝ่ายลดลง เมื่อยอดขายอีกฝ่ายลดลงก็จะลดราคาลงตามเพื่อกระตุ้นยอดขายเช่นกัน สุดท้ายการลดราคาไม่ได้ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมากนักเพราะถูกลดราคาตามลงมา ผลที่ได้จึงเป็นเพียงการทำให้กำไรลดลงเสียมากกว่า
ผู้ขายสามารถเลือกที่จะร่วมมือกันได้ เนื่องจากมีบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง กลยุทธ์จึงมีผลกระทบอย่างมากระหว่างกันและกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การสมรู้ร่วมคิดเพื่อกำหนดราคาหรือระดับการผลิต เพื่อผลกำไรที่สูงขึ้นสำหรับบริษัท แต่ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค