GreedisGoods » Economics » Operation Twist คืออะไร? มีกลไกอย่างไร

Operation Twist คืออะไร? มีกลไกอย่างไร

by Kris Piroj
Operation Twist คือ มาตรการ OT ธนาคารกลางสหรัฐ Fed Operation Twist

มาตรการ Operation Twist เป็นหนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ เมื่อ Bond Yield เพิ่มขึ้น ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกับกดไกของ Operation Twist ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed

Operation Twist คืออะไร?

Operation Twist คือ มาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางจะลดสัดส่วนการถือครองพันธบัตรระยะสั้นแล้วเพิ่มการถือครองพันธบัตรระยะยาว โดยในการทำ Operation Twist ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวพร้อมกับขายพันธบัตรระยะสั้นออกมา

การสับเปลี่ยนตราสารหนี้ในมือของ Fed จากการทำ Operation Twist (OT) จะทำให้อายุครบกำหนดไถ่ถอนเฉลี่ยของสินทรัพย์ในงบดุลของ Fed (Fed Balance Sheet) เพิ่มขึ้นโดยที่ Fed ไม่ต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ

เป้าหมายของ Operation Twist คือ การกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจ

สรุป Operation Twist แบบรวบรัด คือ มาตรการที่ Fed ทำการขายพันธบัตรระยะสั้นที่มีอยู่และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวแทน เพื่อกด Bond Yield ระยะยาวให้ลดลง

กลไกของ Operation Twist

กลไกของ Operation Twist อยู่บนพื้นฐานของกลไก Bond Yield หรือผลตอบแทนพันธบัตร เมื่อพันธบัตรเป็นที่ต้องการก็จะทำให้พันธบัตรดังกล่าวราคาสูงขึ้นซึ่งจะทำให้ Bond Yield หรือผลตอบแทนลดลง ในทางกลับกันเมื่อพันธบัตรไม่เป็นที่ต้องการ (ถูกเทขาย) ก็จะทำให้ราคาลดลงซึ่งจะทำให้ Bond Yield เพิ่มขึ้น

  • ราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น Bond Yield จะลดลง
  • ราคาพันธบัตรลดลง Bond Yield จะเพิ่มขึ้น

การทำ Operation Twist ของ Fed คือการขายพันธบัตรระยะสั้นออกมา แล้วเพิ่มการถือครองพันธบัตรระยะยาวหรือนำเงินไปซื้อพันธบัตรระยะยาวแทน พันธบัตรระยะสั้นที่ถูก Fed ขายออกมาจะมีปริมาณ Supply ในตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พันธบัตรระยะสั้นในตลาดราคาลดลง และทำให้ Bond Yield ของพันธบัตรระยะสั้นรุ่นดังกล่าวเพิ่มขึ้น

ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวรุ่นที่ถูกซื้อจาก Fed ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ราคาพันธบัตรระยะยาวรุ่นดังกล่าวในตลาดเพิ่มขึ้น และทำให้ Bond Yield ของพันธบัตรระยะยาวรุ่นดังกล่าวลดลงตามเป้าหมายของ Fed ในการทำ Operation Twist ที่ต้องการกด Bond Yield ระยะยาวให้ต่ำกว่าระยะสั้น

เมื่อ Bond Yield ระยะยาวต่ำกว่าระยะสั้น นักลงทุนที่ถือพันธบัตรระยะยาวก็จะเทขายออกมาเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น และนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนเท่ากันหรือมากกว่าเพื่อรักษาผลตอบแทนให้ได้เท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตรรุ่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ตราสารหนี้ภาคเอกชน ไปจนถึงหุ้น

นอกจากนี้ ในกรณีที่ตราสารหนี้อายุเท่ากันให้ผลตอบแทนลดลง การออกตราสารหนี้ใหม่รวมถึงตราสารหนี้ภาคเอกชนอย่างหุ้นกู้ที่บริษัทเป็นผู้ออก ก็จะไม่จำเป็นให้ดอกเบี้ย (Coupon Rate) ที่สูงเท่าเดิมอีกต่อไป ในส่วนนี้ก็จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจลดลงด้วยเช่นกัน

Operation Twist ในอดีต

มาตรการ Operation Twist เคยถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1961 โดย Fed ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและขายพันธบัตรระยะสั้นมูลค่าเท่ากันเพื่อกด Bond Yield ระยะยาว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หลังสงครามเกาหลี

และอีกครั้งในปี 2011 ช่วงหลัง Subprime Crisis เพื่อลดขนาด Balance Sheet หลังจากที่ Fed ได้อัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อบ้านในช่วงที่ผ่านมา ในขณะนั้นคณะกรรมการ FOMC ได้มีมติ 7 ต่อ 3 เสียง ให้ Fed ได้เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวอายุ 6-30 ปีมูลค่ารวม 4 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมกับขายพันธบัตรระยะสั้นอายุ 3 ปีหรือต่ำกว่าออกมาในมูลค่าเท่ากัน

ในปี 2011 มาตรการ Operation Twist ถูกใช้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกด Bond Yield ระยะยาวให้ต่ำลงซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังดอกเบี้ยระยะยาวซึ่งก็คือดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน เพื่อจูงใจให้คนกล้าซื้อบ้านมากขึ้นในยุคนั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเพื่อเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด