GreedisGoods » Marketing » Overbooking คืออะไร? Overselling ในทางการตลาด

Overbooking คืออะไร? Overselling ในทางการตลาด

by Kris Piroj
Overbooking คือ การ Overselling คือ การขายจอง Overbooking สายการบิน

Overbooking คืออะไร?

Overbooking คือ การขายหรือเปิดให้จองบริการบางอย่างเกินกำลังการผลิตจริง ตัวอย่างเช่น เที่ยวบินหนึ่งของสายการบินหนึ่ง รองรับได้สูงสุด 150 ที่นั่ง แต่สายการบินดังกล่าวเปิดให้จองที่นั่งได้ถึง 175 ที่นั่ง

หลายคนอาจคุ้นเคยกับการ Overbooking ในกรณีของการ Overbooking สายการบินที่กลายเป็นประเด็นดราม่าอยู่บ่อย ๆ แต่รู้กันหรือไม่ว่าการ Overbooking หรือการ Overselling ไม่ได้มีอยู่แค่กับบริการสายการบินเท่านั้น

แต่การ Overbooking และการ Overselling แฝงอยู่ในหลายบริการที่มีการเปิดให้ลูกค้าจองล่วงหน้าเพื่อเข้ารับบริการ

เพราะประโยชน์ของการ Overbooking คือ การลดโอกาสที่จะเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือพูดง่าย ๆ คือ พยายามขายให้ได้เต็มจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ให้ได้มากที่สุด และลดต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) ให้ได้มากที่สุด

ประโยชน์ของการเปิดให้ Overbooking

เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ลองดูตัวอย่างคร่าว ๆ ว่าสายการบิน เปิดให้ Overbooking ทำไม

สมมติว่าสายการบิน A เที่ยวบินหนึ่ง รองรับได้สูงสุด 100 ที่นั่ง และเที่ยวบินรอบดังกล่าวมีต้นทุน 150,000 บาท แต่เที่ยวบินนี้สายการบิน A เปิดให้จองที่นั่งได้สูงสุด 110 ที่นั่ง (สมมติว่า 1 ที่นั่งราคา 7,000 บาท)

  • รายได้สูงสุดหากไม่มีการ Overbooking คือ 100 x 7,000 = 700,000 บาท
  • ทำให้เที่ยวบินนี้จะมีกำไร 700,000 – 150,000 = 550,000 บาท

กลับมาที่การ Overbooking ที่จะตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ถึงแม้ว่าจะมีการจองเต็ม 100 ที่นั่ง แต่ในความเป็นจริงลูกค้าอาจมาไม่ครบ ซึ่งแต่ละสายการบินมีสถิติที่เก็บรวบรวมเอาไว้ ทำให้สามารถใช้คำนวณแนวโน้มได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นในหลายครั้ง ๆ

เมื่อลูกค้าที่จองไว้มาไม่ครบ นั่นหมายความที่นั่งที่ลูกค้าไม่มาก็จะกลายเป็นที่ว่าง ซึ่งการมีที่วางสายการบินมองว่ายังขายได้

จากตัวอย่าง สายการบินปล่อยให้ Overbooking ได้ถึง 110 ที่นั่ง หรือคาดว่าลูกค้า 10 คนจะไม่มา ดังนั้นถ้าหากลูกค้า 10 คนไม่มาอีก 10 คนที่จองเกินมาก็จะมีที่นั่งเป็น 10 ที่นั่งที่ว่าง

  • รายได้สูงสุดเมื่อมีการ Overbooking คือ 110 x 7,000 = 770,000 บาท
  • ทำให้เที่ยวบินนี้จะมีกำไร 770,000 – 150,000 = 620,000 บาท

จะเห็นว่าการเปิดให้ Overbooking ทำให้สายการบิน A ได้กำไรเพิ่มมาอีก 70,000 บาท

แต่ถ้าหากว่าสายการบินคาดการณ์ผิดผู้โดยสารมาเต็มจำนวน สายการบินก็จะหาผู้ที่จะยอมไปเที่ยวบินหน้า (หรือสุ่ม) และจ่ายชดเชยให้ผู้โดยสารคนดังกล่าว (ไม่กี่หมื่น) ซึ่งเงินที่จ่ายชดเชยไป ในท้ายที่สุดสายการบินก็จะคืนทุนจากเที่ยวบินเที่ยวอื่นที่ทำการ Overbooking อยู่ดี

และทั้งหมดคือ แนวคิดพื้นฐานและข้อดีของการ Overbooking หรือการ Overselling ที่เราสมมติตัวเลขสมมติกลม ๆ ขึ้นมาเพื่อความง่ายในการคิดตาม และยังไม่รวมค่าโหลดกระเป๋าเพิ่ม


ตัวอย่างการ Overbooking

ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่เปิดให้จองหรือขายในลักษณะของการ Overbooking หรือ Overselling ที่นอกเหนือจากกรณีของการเปิดให้จองที่นั่งในเที่ยวบิน

Concert

คอนเสิร์ตเปิดให้ผู้ที่จองบัตรจองได้มากกว่าจำนวนที่งานจะรับได้จริง เพราะคาดว่าผู้จองไม่น่าจะมาเต็มจำนวน 100%

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้ที่เข้าชม Concert จะมาครบ 100% จริง ก็ไม่มีใครรู้ได้ว่าคนเกิน โดยเฉพาะกับกรณีของบัตรยืน

ที่พักของงาน Music Festival งานหนึ่ง

ถ้าใครอ่านข่าวต่างประเทศน่าจะคุ้นว่ามีงาน Music Festival งานหนึ่งที่เปิดให้ผู้ร่วมงานจองที่พักเกินจำนวนที่พักที่จัดหาให้ได้ (Overbooking) เพราะคาดว่ายังไงคนก็มาไม่ถึงตามจำนวนคนที่จอง

โดยการเปิดให้ลูกค้า Overbooking ก็จะทำให้ผู้จัดงานมีเงินหมุนเวียนเพื่อใช้ในการจัดงาน Music Festival มากขึ้น

ถ้าหากว่าวันงานมีลูกค้าจองเกินขึ้นมานิดหน่อย งานก็รับมือด้วยการจองโรงแรมดี ๆ พร้อมรถรับส่งให้ เพื่อชดเชยให้กับลูกค้า ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเปิดให้ Overbooking

Web Hosting

ในกรณีของ Web Hosting จะ Overselling ด้วยการขายบริการเว็บโฮสติ้งมากกว่าทรัพยากรที่มี สมมติว่า บริษัท Greed is Hosting เปิดให้บริการ Web Hosting โดยกำหนดให้ลูกค้าเก็บข้อมูลของเว็บได้คนละ 25 GB โดยที่ Server แต่ละตัวสามารถเก็บข้อมูลได้ 1,000 GB และสมมติว่า Greed is Hosting มี Server อยู่ทั้งหมด 100 เครื่อง

นั่นหมายความว่า Server 1 เครื่องจะสามารถรับลูกค้าได้จริง 40 คน แบบเต็มประสิทธิภาพ

สมมติว่า ค่าเช่าคือปีละ 1,000 บาทต่อคน ดังนั้นโดยพื้นฐานบริษัทจะได้เงินสูงสุด 40,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง Server หรือ 4,000,000 บาทต่อปีจาก 100 เครื่อง แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกเว็บไซต์จะเก็บข้อมูลเกิน 25 GB ซึ่งบริษัท Greed is Hosting ให้บริการมานาน มีสถิติว่าลูกค้าใช้พื้นที่เฉลี่ยจริง ๆ แค่คนละประมาณ 1 GB เท่านั้นเอง

นั่นหมายความว่า Server 1 เครื่อง จะรับลูกค้าได้ประมาณ 1,000 คน (บวกลบนิดหน่อย)

หรือทำเงินได้สูงสุด 1,000 บาท x 1,000 คน = 1,000,000 บาทต่อ 1 เครื่อง Server หรือ 100,000,000 บาทจาก 100 เครื่อง (มากกว่าการไม่ Overselling 25 เท่า)

ในส่วนของลูกค้าที่มาใช้บริการก็รู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองใช้แค่ 2-3 GB เท่านั้น (ส่วนน้อยที่ใช้มากกว่านี้) ดังนั้น บริษัท Greed is Hosting ก็จะใช้ประโยชน์ของ 2 ประเด็นนี้ในการ Overselling คือ

  1. ตั้ง Package ให้พื้นที่เยอะ ๆ ให้ลูกค้ารู้สึกว่า บริการของเราให้พื้นที่เยอะ (ซึ่งอาจทำให้เพิ่มราคาได้อีกด้วยการใช้กลยุทธ์อื่นร่วม)
  2. รับลูกค้า 1000 คนต่อ 1 เครื่อง Server แทนที่จะรับแค่ 40 คนต่อเครื่อง และทำเงินได้มากกว่าเดิม 25 เท่าด้วยต้นทุนเท่าเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด