GreedisGoods » Business » Overqualified คืออะไร? ทำไมหลายบริษัทไม่ต้องการ

Overqualified คืออะไร? ทำไมหลายบริษัทไม่ต้องการ

by Kris Piroj
Overqualified คือ Over Qualify คือ สมัครงาน Over Qualification HR

Overqualified คืออะไร?

Overqualified คือ การที่ผู้สมัครงานมีคุณสมบัติมากเกินความต้องการที่บริษัทได้กำหนดเอาไว้ใน Job Specification ของการรับสมัครพนักงาน และในบางกรณีอาจจะมีคุณสมบัติที่สูงกว่าคุณสมบัติที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ระดับการศึกษาสูงเกินไป ประสบการณ์การทำงานมากเกินไป ความสามารถมากเกินไป เกรดสูงเกินไป ไปจนถึงอายุมากหรือน้อยเกินไป เป็นต้น

โดยคำว่า Over Qualify หรือ Overqualified เป็นคำที่มักจะพบได้มากในกรณีของการถูกปฏิเสธงานจาก HR เมื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติสูงกว่าที่บริษัทต้องการ และบางคนอาจมีประสบการณ์ในการถูกปฏิเสธงานด้วยเหตุผล Overqualified ซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ที่พึ่งพบเจอมา จนต้องมาหาคำตอบว่า Overqualified คืออะไร? ทำไมถึงได้รับการตอบกลับจาก HR ว่า Overqualified

ในบทความนี้เราจะมาอธิบายเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำว่า Overqualified หรือ Over Qualify ว่าทำไม HR ที่รับสมัครงานหรือบริษัทจึงได้ให้เหตุผลว่า Overqualified หรือ คุณดีเกินไป

สาเหตุของ Overqualified

เหตุผลของ Overqualified หรือ การที่มีคุณสมบัติเกินเกณฑ์ ตามที่ได้อธิบายในตอนต้นเป็นเพียงเหตุผลใน “เบื้องหน้า” ของการปฏิเสธ แต่เหตุผลที่ว่าทำไมถึงไม่ต้องการพนักงานที่มีคุณสมบัติสูง (เกินไป) หรือคุณสมบัติเกินเกณฑ์ ทั้งที่น่าจะดีกับองค์กร มาจากประเด็นต่อไปนี้:

ลดอัตราการลาออกของพนักงาน

หลายบริษัทเชื่อว่า (หรือมีสถิติที่รวบรวมเอาไว้) ว่าพนักงานที่มีความสามารถสูงมีแนวโน้มที่จะลาออกอย่างรวดเร็วสูงกว่า

โดยเฉพาะกับการที่มีความสามารถสูงกว่าตำแหน่งงานที่รับเข้ามา ซึ่งสาเหตุทั่วไปมักจะมาจากการที่เมื่อพนักงานเหล่านั้นทำงานไประยะหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่อย่างที่คิด และการที่เมื่อมีความสามารถย่อมได้ข้อเสนอที่ดีกว่าได้ง่ายแ

กล่าวคือ คนที่สามารถเลือกได้ ก็มักจะมีโอกาสที่เขาเหล่านั้นจะเลือกอยู่มาก

โดยปัญหาการลาออกอย่างรวดเร็วของพนักงานจะส่งผลให้การทำงานขาดช่วง และที่สำคัญที่สุดคือการที่ HR จะต้องเสียเวลาหาพนักงานใหม่ และต้องสอนงานใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) ที่องค์กรไม่ต้องการประสบพบเจอ

ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น

การจ้างพนักงานที่มีความสามารถรอบด้านที่ Overqualified หมายความว่า ค่าตอบแทนที่บริษัทจะต้องให้พนักงานก็จะต้องสูงตาม ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่มากขึ้น

แม้ว่าหลายคนจะติดกับดักของความเป็นที่ 1 หรือความเป็นที่สุด แต่สำหรับธุรกิจแล้วธุรกิจไม่ได้จำเป็นธุรกิจที่เก่งที่สุดเสมอไป การเป็นธุรกิจที่เก่งในบางด้านและธรรมดาในด้านอื่น ๆ ก็สามารถแข่งขันได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ในบริษัทที่ใช้กลุยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจแบบ Cost Leadership (กลยุทธ์ผู้นำด้านต้นทุน) ที่เน้นผลิตสินค้าออกมาให้ได้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ย่อมต้องการเพียงพนักงานที่ทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จได้และไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านั้น เพื่อควบคุมต้นทุนด้านพนักงานไม่ให้สูงเกินความจำเป็นไปมากกว่านี้

ในทางกลับกัน บริษัทดังกล่าวอาจลงทุนในส่วนของการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้นทุนต่ำหรือคุ้มค่าต้นทุนที่สุดแทน

ปัญหาการปรับตัว

นายจ้างในบางกรณีเชื่อว่าผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ Overqualified จะมีปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับบทบาทที่ต่ำกว่าระดับทักษะของตน (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นระดับเงินเดือนที่ต่ำกว่าด้วเช่นกัน) และพนักงานดังกล่าวก็จะจบที่การลาออกในที่สุด

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปรับตัวของพนักงานที่มีทักษะมากกว่างานที่ทำ ส่งผลให้นายจ้างและ HR หลายคนเลือกที่จะปฏิเสธพนักงานที่มีคุณสมบัติสูงเกินไป

ข้อดีของ Over Qualify

ทั้งนี้ ไม่ใช้ทุกบริษัทจะปฏิเสธพนักงานที่มีคุณสมบัติสูงเกินไปหรือ Overqualified เสมอไป เพราะการรับพนักงานที่มีความสามารถสูงกว่าตำแหน่งงานก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน เพียงแต่การรับพนักงานที่ Overqualified จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถรับความเสี่ยงที่กล่าวถึงในหัวข้อด้านบนได้หรือประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับมีมากกว่า

โดยข้อได้เปรียบของของการจ้างงานพนักงานที่ Over Qualify ได้แก่:

  • ประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงกว่า บางครั้งอาจจะสูงในระดับที่เปลี่ยนมาตรฐานหรือวิธีการทำงานส่วนนั้นไปเลยก็ได้
  • ได้เปิดมุมมองใหม่ของงานตำแหน่งนั้น ไปจนถึงการเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน เพราะบางครั้งการจ้างพนักงานที่ความสามารถสูง อาจพบว่าในตำแหน่งงานนั้นมีวิธีการดำเนินงานแบบอื่นที่ผลลัพธ์ดีกว่าอยู่

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด