GreedisGoods » Economics » Pending Demand คืออะไร? มารู้จักกับ ดีมานด์สะสม

Pending Demand คืออะไร? มารู้จักกับ ดีมานด์สะสม

by Kris Piroj
Pending Demand คือ Demand สะสม คือ ดีมานด์สะสม

Pending Demand คืออะไร?

Pending Demand คือ ดีมานด์สะสมหรือถ้าแปลความหมายแบบตรงตัวคือ ความต้องการซื้อสะสม ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ แต่ไม่สามารถซื้อได้หรือต้องรออะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถซื้อได้ในเวลานั้นจนกลายเป็น Pending Demand หรือ ความต้องการซื้อสะสม

องค์ประกอบที่ทำให้เกิด Pending Demand ขึ้นมาได้มีอยู่ 2 ส่วน คือ ความต้องการซื้อที่มีอยู่แล้ว (อยากซื้อ กำลังซื้อพร้อม) และเหตุการณ์หรือเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถซื้อได้

กล่าวคือ Pending Demand หรือ ความต้องการซื้อสะสม คือการที่คนอยากซื้อแต่ไม่ได้ซื้อด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ความต้องการซื้อค้างอยู่ และเมื่อถึงเวลาที่สามารถซื้อได้คนเหล่านั้นก็จะซื้อทันที

ส่งผลให้ปริมาณความต้องการซื้อสินค้า ณ จุดที่ลูกค้าสามารถซื้อได้จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ก่อนที่จะลดลงสู่ระดับปกติเมื่อลูกค้าเหล่านี้ได้รับการตอบสนองจนพึงพอใจแล้ว

ตัวอย่าง Pending Demand คือ สิ่งที่เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ความต้องการเที่ยวอย่างมาก หลังจากที่คนไม่สามารถออกไปเที่ยวได้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 กำลังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม แม้บางคนจะบอกว่าวิกฤตโควิด 19 คือสิ่งที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ 2020 จนทำให้หลายคนไม่มีกำลังซื้อและเลือกที่จะไม่เที่ยวเมื่อการระบาดจบลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีเงินมากพอและจะออกไปเที่ยวเมื่อวิกฤตโควิดจบลงอยู่ดี หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือเที่ยวหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว

วิธีรับมือกับ Pending Demand

เกือบทุกกรณีที่ทำให้เกิด Pending Demand หรือ ดีมานด์สะสม คือ เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถอะไรได้นอกจากรอ แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือการใช้โอกาสจาก Pending Demand ในช่วงที่ปัญหาจบลงและผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้อีกครั้ง

ดังนั้น ถ้าหากรู้ตัวเองว่าธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจที่มี Pending Demand รออยู่ เมื่อถึงเวลาที่ผู้บริโภคพร้อมที่จะซื้อหลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถซื้อได้จบลง คุณต้องมีสินค้าในระดับที่เพียงพอที่จะขายให้ลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ต้องถึงกับรีบตุนของเอาไว้รอขาย เพราะในความเป็นจริงในทุกเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด ความต้องการซื้อสะสม หรือ Pending Demand คือ เหตุการณ์ที่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้นานพอสมควรว่าใกล้จะกลับมาเป็นปกติหรือยัง (ถ้าหากคุณติดตามสถานการณ์)

ยกตัวอย่างกรณีของโรคระบาดในปัจจุบันที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวอีกครั้ง เมื่อลองคิดตามดีๆ จะเห็นว่าถ้าหากคุณตามข่าวของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปจนถึงจุดที่วิกฤต COVID-19 จบลง คุณจะพอเดาออกได้ว่าคนจะเริ่มออกมาเที่ยวอีกครั้งเมื่อไหร่โดยไม่จำเป็นต้องใช้สถิติอะไรมาช่วย

นอกจากนี้ ในกรณีที่ธุรกิจของคุณไม่ได้เจ็บหนักในระดับที่แค่รักษาธุรกิจเอาไว้ได้ก็ลำบากแล้ว อีกช่องทางในการหาประโยชน์จาก Pending Demand คือ การสำรวจและวางแผนสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคให้มากขึ้น ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคกลับมาซื้อได้อีกครั้งหลังจากไม่ได้ซื้อมานาน

เพราะอย่างที่บอกว่าหลังจากเกิด Pending Demand เป็นปกติที่ปริมาณความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติในระยะหนึ่ง

ดีมานด์สะสม อะไรรออยู่บ้าง

สำหรับตัวอย่างธุรกิจที่ (คาดว่า) จะมี Pending Demand หรือ ความต้องการซื้อสะสม รออยู่หลังจากจบวิกฤตโควิด 19 ได้แก่

  • ร้านตัดผม หลังจากที่ทุกคนไม่สามารถตัดผมมานาน
  • ร้านอาหาร (นั่งทานที่ร้าน) หลังจากที่คนไม่ได้นั่งทานอาหารที่ร้านมานาน
  • บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ชาบู
  • อสังหาริมทรัพย์ จากการที่คนไม่กล้าใช้เงิน (หรือไม่มีเงิน) ช่วงโควิดระบาด
  • ห้างสรรพสินค้า และแหล่งช็อปปิ้งต่างๆ
  • สินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงสินค้าที่ไม่เปลี่ยนก็ยังใช้ต่อไปได้ อย่างเช่น ความต้องการเปลี่ยนรถยนต์
  • ท่องเที่ยว แต่สำหรับกรณีนี้ยิ่งจบ COVID-19 ช้าคนยิ่งออกมาเที่ยวช้า

อย่างไรก็ตาม ในตัวอย่างมีข้อแม้ที่สำคัญคือจะต้องไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ตามมาหลังจากวิกฤต COVID-19 เพราะในกรณีนั้น กรณีที่ถ้าหากมีวิกฤตเศรษฐกิจ 2020 ตามมาจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง (ซื้อไม่ได้หรือไม่อยากซื้ออยู่ดี) ส่งผลให้สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นอีกกรณีจากบทความนี้

บทความที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด