ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ คืออะไร?
ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ คือ ตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายอยู่เป็นจำนวนมากโดยที่สินค้ามีลักษณะเหมือนกันทุกประการ ทำให้ผู้ขายไม่มีอิทธิพลเหนือตลาดในการกำหนดราคาสินค้า ส่งผลให้สินค้าแบบเดียวกันในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) มีราคาเท่ากัน
โดยราคาของสินค้าในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) จะถูกกำหนดโดยกลไกราคาตลาดที่เกิดขึ้นจากผลของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand)”
เมื่อความสมบูรณ์ของการแข่งขันในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ส่งผลให้กลไกราคาเป็นตัวกำหนดราคาของสินค้าในตลาด จึงทำให้ผู้ขายไม่สามารถตั้งราคาที่สูงกว่าตลาดเนื่องจากมีผู้ขายสินค้าเหมือนกันอยู่มากมายในตลาด และในทางกลับกันก็ไม่มีเหตุให้ตั้งราคาที่ต่ำกว่า
กล่าวคือ เมื่อเข้าไปซื้อสินค้าจากตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) คุณก็จะซื้อสินค้าดังกล่าวได้ในราคาเดียวกันทั้งตลาดไม่ว่าจะซื้อที่ไหนในช่วงเวลาเดียวกัน
ลักษณะของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition)
ลักษณะที่สำคัญที่จะทำให้ตลาดถูกจัดว่าเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition Market) ในทางเศรษฐศาสตร์ มีดังนี้
สินค้าทั้งตลาดเป็นสินค้าที่เหมือนกัน (Homogeneous Products) – สินค้าหรือบริการทั้งหมดที่นำเสนอโดยบริษัทในตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์นั้นเหมือนกันทั้งในด้านคุณภาพ และคุณลักษณะ
มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก – เมื่อมีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากในตลาดจะทำให้ละคนแต่ละฝ่ายเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตลาดโดยรวม ไม่มีผู้ซื้อหรือผู้ขายรายใดมีอำนาจมีอิทธิพลต่อราคาตลาด ทุกคนในตลาดเป็นเพียง Price Taker
ทุกฝ่ายในตลาดเป็น Price Takers – ทุกบริษัทในตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์คือ Price Taker ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถควบคุมราคาตลาดได้ และต้องยอมรับราคาที่เกิดขึ้นตามกลไกอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) ทำได้เพียงกดต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อสร้างผลกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลในการตัดสินใจซื้อขายสินค้าเท่ากัน – ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะตลาด รวมถึงราคาและปริมาณของสินค้าและบริการที่นำเสนอ
ผู้ขายสามารถเข้าและออกจากตลาดได้อย่างเสรี – ผู้ขายรายใหม่สามารถเข้าสู่สู่ตลาดได้อย่างง่ายดายและผู้ขายที่มีอยู่สามารถออกจากตลาดได้อย่างง่ายดาย โดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นกำแพงขวาง
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เงื่อนไขทั้งหมดของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) เป็นเพียงเงื่อนไขสำคัญที่เป็นหลักการพื้นฐานของตลาดแข่งขันสมบูรณ์เท่านั้น ซึ่งยังมีเงื่อนไขเล็กน้อยอย่างอื่นอีก เช่น การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี, การที่ต้นทุนหรือผลประโยชน์ของกิจกรรมในตลาดไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่สาม, ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเป็นศูนย์, และผู้ซื้อที่มีเหตุผลโดยซื้อขายเพื่อเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขา
ตัวอย่าง ตลาดแข่งขันสมบูรณ์
โดยหลักการแล้วตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) คือ สถานการณ์สมมุติซึ่งไม่สามารถมีอยู่ในตลาดในชีวิตจริงได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่เป็นข้อจำกัด แต่อย่างไรก็ตามตลาดแข่งขันสมบูรณ์ก็ยังคงถูกใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบกับโครงสร้างตลาดในรูปแบบอื่น ๆ
ตัวอย่างตลาดแข่งขันสมบูรณ์ หนึ่งในตลาดที่ใกล้เคียง คือ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Goods) อย่างเช่น โลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ธัญพืช โลหะเงิน สินค้าเกษตร และทองคำ
โดยตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Goods) ในที่นี้สมมติว่าเป็นทองคำ (Gold) โดยเราจะเห็นว่าทองคำทั่วโลกมีราคาที่เท่ากันไม่ต่างกันมาก ซึ่งถ้าหากราคาแตกต่างกันมากเกินไปจะทำให้เกิดการ Arbitrage เพื่อทำกำไรจากนักลงทุนจนราคาเข้าสู่จุดดุลยภาพของตลาด (Market Equilibrium) ในท้ายที่สุด
เป็นเพราะไม่ว่าจะทองคำที่อยู่ในตลาดใดถ้าความบริสุทธิ์เท่ากันก็จะเป็นสินค้าที่ไม่มีความต่างกัน โดยราคาของทองคำก็จะเป็นไปตามปริมาณความต้องการซื้อและความต้องการขายของทองคำทั่วโลกตามปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำ
หรืออีกกรณีใกล้เคียงกันก็คคือตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหุ้นที่เป็นไปตามเงื่อนไขด้านบนเกือบทุกข้อ
ทั้งสองมีสิ่งที่ทำให้เกือบเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) เหมือนกัน คือ เรื่องของข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อขายในความเป็นจริงแล้วข้อมูลในการซื้อขายของนักลงทุนไม่เท่ากันอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย