Personal Branding คืออะไร?
Personal Branding คือ การสร้างภาพลักษณ์ประจำตัวของบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการผสานกันระหว่างทักษะ ประสบการณ์ ความเป็นมืออาชีพ และบุคลิกส่วนบุคคลที่ต้องการแสดงให้ทุกคนเห็น โดย Personal Branding อาจเป็นสิ่งที่บุคคลพยายามสร้างขึ้นหรืออาจเพิกเฉยแล้วปล่อยให้เกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติก็ได้
ตัวอย่างเช่น Steve Job, Elon Musk, Jeff Bezos, Enzo Ferrari, Ray Dalio, Michael Porter และชื่อของนักธุรกิจอีกหลายคนที่เมื่อนึกถึงชื่อของเขาเหล่านั้นก็จะต้องนึกถึงชื่อแบรนด์ จุดเด่น ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจของเขาเหลานั้นไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ด้วย Personal Branding ของพวกเขา จึงทำให้ภาพลักษณ์ของนักธุรกิจเหล่านี้กลายเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ของพวกเขาไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในยุคก่อนอินเทอร์เน็ต Personal Branding เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากการปรากฏตัวในสื่อหลัก เหมือนกับผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่หลงเหลือมาจากยุคโทรทัศน์จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม Personal Branding ในปัจจุบันที่เป็นยุคของ Internet ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กับผู้มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ใครก็ตามสามารถสร้าง Personal Brand ให้ตัวเองได้ด้วยการสร้างตัวตนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางบนช่องทาง Owned Media บน Social Media ต่าง ๆ หรือในกรณีที่ง่ายกว่านั้นคือในกรณีของ YouTuber ที่เป็น KOLs หรือ Influencer ที่มีความสามารถเฉพาะทางบางอย่าง แล้วให้ขายสินค้าหรือบริการที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญของพวกเขา
วิธีสร้าง Personal Branding
Jill Avery อาจารย์อาวุโสด้านการบริหารธุรกิจจาก Harvard Business School ได้กล่าวถึงวิธีสร้าง Personal Brand โดยแบ่งการสร้าง Personal Branding เป็น 7 ขั้นตอน ได้แก่:
ขั้นแรก กำหนดวัตถุประสงค์ ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) เพื่อเป้าหมายในระยะยาวว่าต้องการสร้างคุณค่าอะไร ตลอดจนตำแหน่งที่ใช้ในการแข่งขัน และความโดนเด่นที่มี
ขั้นที่ 2 ตรวจสอบ Personal Brand Equity ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น Brand Awareness (การรับรู้แบรนด์) ที่ผู้คนมีต่อคุณในปัจจุบันว่าคุณเป็นใคร ตลอดจนหาคำที่ใช้อธิบายว่าคุณเป็นใครหรืออธิบายถึงตัวตนคุณ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ในมุมมองคนนอกต่อคุณ
ขั้นที่ 3 สร้างเรื่องราวของคุณที่แสดงถึงความเป็นคุณ เพื่อสร้างความเป็นคุณที่ไม่เหมือนใครและแสดงให้เห็นคุณค่าของคุณ (ที่ต้องการนำเสนอ) เพื่อใช้ในการถ่ายทอด Personal Brand ของคุณในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น การสัมภาษณ์หรือการสนทนาทั่วไป
ขั้นที่ 4 ทำให้ Personal Brand (ที่ต้องการ) เป็นรูปร่างขึ้นมา ด้วยการให้ความสนใจกับข้อความที่สื่อสาร ในการสนทนา และการโต้ตอ โดยเน้นด้านที่น่าสนใจของ Personal Brand (ที่คุณต้องการ) ลงไปในคำตอบของคุณ และตะหนักอยู่ตลอดว่าทุกการปฏิสัมพันธ์มีอิทธิพลต่อ Brand Awareness ของคุณ
ขั้นที่ 5 สื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ของคุณ โดยใช้ Owned Media หรือสื่อที่เป็นของคุณเอง (เช่น โซเชียล และเว็บไซต์), Earned Media ที่ได้มาจากการกล่าวถึงโดยสื่ออื่น และการอ้างอิง ตลอดจน Paid Media ที่ได้มาจากการจ่ายเงิน (โฆษณา และช่องทางของพันธมิตร) โดยปรับแต่งวิธีการสื่อสารให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ขั้นที่ 6 สร้างสังคม (Connection) ให้กับแบรนด์ของคุณ ด้วยการระบุกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประโยชน์กับคุณ และสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลหรือกลุ่มคนเหล่านั้น โดยการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การสนับสนุน และการแนะนำตัว
ขั้นที่ 7 การประเมินและปรับ Personal Brand เนื่องจากเป้าหมายและวิธีการบางอย่างในการทำ Personal Branding อาจไม่เหมาะสมและไม่ได้ผล ทำให้การประเมินผลและปรับปรุง Personal Brand เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในระยะยาวและเติมเต็มช่องว่างบางอย่างที่ขาดไปเป็นสิ่งสำคัญ
ความสำคัญของ Personal Branding
Personal Branding คือเครื่องมือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากตัวตนของบุคคลที่ติดอยู่กับแบรนด์ ซึ่งช่วยลดกำแพงในใจของลูกค้าต่อสินค้าลงมากพอสมควร เพราะตามปกติคนมักความคิดเห็นที่เอนเอียงไปตามบุคคลมากกว่าบริษัท และรู้สึกวางใจกับคนที่รู้จัก (หรือคิดว่ารู้จัก) เหมือนกันกับในกรณีเลือกตั้งที่มีแนวโน้มที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะโหวตให้ชื่อที่พวกเขารู้จักในกรณีที่ไม่มีข้อมูลอื่น
ดังนั้น เมื่อเทียบกับสินค้าหรือบริการทั่วไปแบบเดียวกันในตลาด สินค้าหรือบริการที่มีการสร้าง Personal Branding จะมีความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์ ตัวอย่างเช่นในกรณีของ Tesla ที่มี Elon Musk เป็น Personal Brand การเคลื่อนไหวของ Elon Musk มักจะนำไปสู่การนึกถึงแบรนด์ Tesla หรือแบรนด์อื่นที่เป็นเจ้าของด้วย
ข้อเสียเปรียบของ Personal Branding
การสร้างชื่อเสียงเป็นการลงทุนระยะยาว (ไม่ต่างจากการปั้นช่องทาง Social Media จนโด่งดัง) ทำให้กว่าที่ชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ที่ต้องการจะเกิดขึ้นอาจใช้เวลาหลายปี (หรือแม้แต่หลายสิบปี)
ในทางกลับกัน Personal Branding คือสิ่งที่สามารถถูกทำลายได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายด้วยอะไรก็ตามที่ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกถึงว่าไม่ได้เป็นมืออาชีพ หรือไม่ได้มีภาพลักษณ์อย่างที่คิด หรือแม้กระทั่งการใช้ Personal Branding ในการขายสินค้าที่ยิ่งยัดเยียดขายสินค้ามากเท่าไหร่ความเชื่อถือก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อสร้าง Personal Branding ได้แล้ว การรักษา Personal Branding ให้คงอยู่เหมือนเดิมในระยะยาวก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไปทุกคนย่อมเติบโตและเปลี่ยนแปลง ในส่วนนี้อาจพบได้ในกรณีของ YouTuber ที่ใครหลายคนติดตามมานาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่าแนวทางของ Content เปลี่ยนไปตามประสบการณ์และอายุที่มากขึ้นของ YouTuber แต่ละคน
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก: Harvard Business Review, NeilPatel, HBR