GreedisGoods » Business » Power-Interest Grid คืออะไร? วิเคราะห์อย่างไร

Power-Interest Grid คืออะไร? วิเคราะห์อย่างไร

by Kris Piroj
Power Interest Grid คือ เครื่องมือวิเคราะห์ผู้มีส่วนเสีย Staleholder

Power-Interest Grid คืออะไร?

Power-Interest Grid คือ เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการใช้ตารางเมทริกซ์สองมิติที่ประกอบด้วยปัจจัยด้านอำนาจ (Power) และปัจจัยด้านความสนใจในโครงการ (Interest) เพื่อทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจัดลำดับความสำคัญของแต่ละกลุ่ม

โดย Power-Interest Grid จะแบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้ทำการวิเคราะห์ออกเป็น 4 กลุ่ม ตามระดับอำนาจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความสนใจต่อโครงการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้:

  • Manage Closely คือ กลุ่มที่มีทั้งอำนาจและความสนใจในระดับที่สูง (High Power, High Interest)
  • Keep Satisfied คือ กลุ่มที่มีอำนาจในระดับที่สูง แต่ไม่ได้สนใจในโครงการมาก (High Power, Low Interest)
  • Keep Informed คือ กลุ่มที่สนใจโครงการในระดับที่สูงแต่มีอำนาจต่ำ (Low Power, High Interest)
  • Monitor คือ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อำนาจและความสนใจในระดับต่ำ (Low Power, Low Interest)

การแบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ด้วย Power-Interest Grid เป็นเครื่องมือที่นิยมที่สุดที่ใช้ในการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Analysis)

โดยการวิเคราะห์ Stakeholder Analysis เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในช่วงเตรียมการโครงการต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อใช้ในการประเมินมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการ เพื่อใช้ในการตอบสนองและความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งส่งผลต่อโครงการด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม

เพราะความไม่พึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจทำให้ผู้มีส่วนได้เสียยุติความเกี่ยวข้องกับองค์กรหรือโครงการได้ เช่น การขายหุ้นออก การเลิกเป็นลูกค้า การเลิกเป็นซัพพลายเออร์ หรือแม้กระทั่งการลาออกของพนักงาน เป็นต้น

ผลการวิเคราะห์ Power-Interest Grid

เมื่อนำปัจจัยด้านอำนาจ (Power) และปัจจัยด้านความสนใจในโครงการ (Interest) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) มาสร้างเป็นตารางเมทริกซ์สองมิติ จะได้เป็นตาราง Power-Interest Grid ด้านล่าง

Power Interest Grid คือ เครื่องมือวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย Stakeholder Grid
Power-Interest Grid

โดยในแต่ละช่อง (แต่ละ Quadrant) ของ Power-Interest Grid จะเหมาะสมกับกลยุทธ์ในลักษณะ ดังนี้

Manage Closely (High Power, High Interest) – กลุ่มที่มีทั้งอำนาจและความสนใจในระดับที่สูง เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดและควรจัดการอย่างใกล้ชิดเพื่อทำให้คนกลุ่มนี้พึงพอใจมากที่สุด เนื่องจากความสำเร็จและความราบรื่นของโครงการได้รับผลจากกลุ่มนี้มากที่สุด

Keep Satisfied (High Power, Low Interest) – กลุ่มที่มีอำนาจในระดับที่สูงแต่ไม่ได้สนใจในโครงการมาก เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องทำให้กลุ่มนี้พึงพอใจ

Keep Informed (Low Power, High Interest) – กลุ่มที่สนใจโครงการในระดับที่สูงแต่มีอำนาจต่ำ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์อย่างมากเกี่ยวกับเรื่องของรายละเอียดโครงการ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลที่เพียงพอและพูดคุยเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาสำคัญเกิดขึ้น

Monitor (Low Power, Low Interest) – กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ยังไม่สำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากมีอำนาจและความสนใจในระดับต่ำ แต่ควรสังเกตการกลุ่มนี้เอาไว้เนื่องจากมีโอกาสที่จะกลายเป็นอีก 3 กลุ่มได้ในอนาคต

จะเห็นว่าในการตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ผู้ที่มีอำนาจ (Power) สูงต่อโครงการควรได้รับความพึงพอใจเนื่องจากเป็นผู้ที่สามารถขัดขวางหรือสนับสนุนได้ ในขณะที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความสนใจในโครงการ (Interest) สูงควรได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายในหรือภายนอกโครงการ

ทั้งนี้แม้ว่าในโครงการทั่วไปการแบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็น 4 กลุ่มตามที่แสดงอยู่ใน Power-Interest Grid ด้านบนอาจเพียงพอ แต่ในบางโครงการมีมีความซับซ้อน ผู้วิเคราะห์อาจจะต้องแบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียออกเป็นกลุ่มมากกว่า 4 กลุ่มก็ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด