GreedisGoods » Investment » หุ้นบุริมสิทธิ คืออะไร? ต่างจากหุ้นสามัญอย่างไร

หุ้นบุริมสิทธิ คืออะไร? ต่างจากหุ้นสามัญอย่างไร

by Kris Piroj
หุ้นบุริมสิทธิ คือ Preferred Stock คือ หุ้นบุริมสิทธิ ต่างจาก หุ้นสามัญ

หุ้นบุริมสิทธิ คืออะไร?

หุ้นบุริมสิทธิ คือ ตราสารทุนประเภทที่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นและการบริหาร แลกกับการได้สิทธิในการรับเงินลงทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญและสิทธิอื่นบางประการ ในขณะที่ยังคงได้รับเงินปันผล (Dividend) ไม่ต่างจากหุ้นสามัญ

หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) เป็นคำที่มาจากคำว่า “บุริม” + “สิทธิ” โดย บุริม แปลว่า ก่อน ที่นำมารวมกับความว่าสิทธิเป็นคำว่า หุ้นบุริมสิทธิ ที่หมายความว่า เป็นหุ้นที่ได้สิทธิก่อน

ความพิเศษของหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ที่แตกต่างจากหุ้นสามัญ (Common Stock) จะเป็นไปตามความหมายของชื่อ คือ การได้สิทธิก่อนหรือสิทธิพิเศษบางประการ ตัวอย่างเช่น การที่ถ้าหากบริษัทเลิกกิจการผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก็จะได้สิทธิในการถอนทุนคืนก่อนผู้ที่ถือหุ้นสามัญ สิทธิในการแปลงเป็นหุ้นสามัญ และสิทธิในการได้รับเงินปันผล (Dividend) ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ เป็นต้น

ทั้งนี้ รายละเอียดของหุ้นบุริมสิทธิอาจมีรายละเอียดเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยในแต่ละบริษัทที่ออกหุ้นบุริมสิทธิแต่ละประเภทออกมา ซึ่งในส่วนนี้นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารรายละเอียดของแต่ละบริษัทว่าหุ้นบุริมสิทธิที่ออกมามีเงื่อนไขเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิมีสิทธิได้ทุนคืนก่อน

ตัวอย่างเช่น นางสาว A มีหุ้นบุริมสิทธิของบริษัท Copywell เป็นมูลค่า 100,000 บาท ในขณะที่นางสาว B มีหุ้นสามัญของบริษัท Copywell เป็นมูลค่า 300,000 บาท

และสมมติว่าบริษัท Copywell ตัดสินใจจะปิดบริษัทเพราะโดนฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์จนเกือบจะไม่มีเงินเหลือ โดยบริษัท Copywell เหลือเงินทุนทั้งบริษัทอยู่เพียง 200,000 บาท นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทคืนเงินให้กับนักลงทุน

นางสาว A ที่ถือหุ้นบุริมสิทธิ คือ ผู้ที่จะได้เงินทุนคืนก่อน เป็นเงิน 100,000 บาท (บริษัทเหลือเงิน 100,000 บาท)

นางสาว B ที่ถือหุ้นสามัญจะได้เงินคืนเป็นลำดับถัดไป โดยจะได้แค่ 100,000 บาท (จากเงินลงทุน 300,000 บาท) เพราะบริษัทเหลืออยู่แค่นี้หลังจากคืนให้นางสาว A ไปแล้ว

ข้อจำกัดของหุ้นบุริมสิทธิ

แลกกับการที่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิได้เงินทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญเมื่อเลิกกิจการ ข้อจำกัดที่สำคัญของหุ้นบุริมสิทธิคือการที่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น

ในทางกลับกันข้อจำกัดนี้เองก็เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นสามัญ (Common Stock) เพราะจะไม่ต้องกังวลว่าเมื่อออกหุ้นใหม่จะทำให้สัดส่วนในการถือหุ้นเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการออกเสียงและการบริหารของผู้ถือหุ้นที่อาจลดลงหากไม่ซื้อหุ้นเพิ่มเมื่อมีหุ้นออกใหม่

หุ้นบุริมสิทธิทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นไม่เปลี่ยน

สมมติว่าบริษัท GIG มีหุ้นสามัญ 100 หุ้น มีผู้ถือหุ้นโดยแต่ละคนถือหุ้นสามัญดังนี้ A 25 หุ้น (25%) B 20 หุ้น (20%) C 30 หุ้น (30%) และ D 25 หุ้น (25%)

วันหนึ่งบริษัท GIG อยากได้เงินทุนมาลงทุนเพิ่ม จึงออกหุ้นสามัญมาอีก 50 หุ้น ทำให้หุ้นทั้งหมดเพิ่มจาก 100 หุ้นเป็น 150 หุ้น ดังนั้น สัดส่วนการถือหุ้นของ A B C D จะเปลี่ยนไปดังนี้ (ยังไม่มีใครซื้อหุ้นเพิ่ม)

  • A ที่มี 25 หุ้น จากที่ถือหุ้น 25% จะเหลือเพียง 16.67%
  • B ที่มี 20 หุ้น จากที่ถือหุ้น 20% จะเหลือเพียง 13.33%
  • C ที่มี 30 หุ้น จากที่ถือหุ้น 30% จะเหลือเพียง 20%
  • D ที่มี 25 หุ้น จากที่ถือหุ้น 25% จะเหลือเพียง 16.67%

จะเห็นว่า ถ้าหากว่า A ที่เคยถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ซื้อหุ้นเพิ่มเพียง 6 หุ้น ก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากที่สุดแซงหน้า C ไปอย่างง่ายดาย

หรือในอีกกรณี A ที่เคยถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ซื้อหุ้นใหม่ทั้งหมด 50 หุ้น จนทำให้มีหุ้นทั้งหมด 75 หุ้น หรือคิดเป็น 50% จากหุ้นทั้งหมด และซื้อหุ้นจากใครก็ได้มาอีก 1 หุ้น ก็จะทำให้ A มีหุ้นมากกว่า 50% ซึ่งจะทำให้ A มีสิทธิในการจัดตั้งฝ่ายบริหารของบริษัท GIG

จำนวนหุ้นสามัญที่มากกว่าหมายถึงสิทธิในการออกเสียงที่มากกว่า และถ้าหากว่าถือหุ้นสามัญเกิน 50% จะมีสิทธิในการจัดตั้งฝ่ายบริหารของบริษัทได้อีกด้วย ในทางกลับกันถ้าหุ้นที่ออกใหม่ 50 หุ้นเป็นหุ้นบุริมสิทธิก็จะไม่มีปัญหาในตัวอย่างด้านบนเกิดขึ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ต้องกังวลเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นและได้เงินลงทุนมาโดยไม่ต้องก่อหนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด