ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา คือ การเปรียบเทียบระหว่างระดับความต้องการสินค้า (Demand) กับราคาสินค้า (Price) เมื่อราคาสินค้าดังกล่าวเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง Price Elasticity of Demand คือ อัตราส่วนที่จะแสดงให้เห็นว่าปริมาณความต้องการซื้อ (Demand) จะเปลี่ยนแปลงไปกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อระดับราคาสินค้า (Price) เกิดการเปลี่ยนแปลง
พูดให้ง่ายกว่านั้น ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Price Elasticity of Demand) คือตัวเลขที่บอกว่าถ้าสินค้าราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลง X% ความต้องการซื้อสินค้าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงกี่เปอร์เซ็นต์
ตัวอย่างเช่น น้ำมันดีเซลราคาลดลง 3% ทำให้ปริมาณความต้องการเติมน้ำมันมากขึ้น 25% (คนไปเติมน้ำมันมากขึ้น 25%)
สำหรับประโยชน์ของตัวเลขที่ได้จาก ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Price Elasticity of Demand) คือ ตัวเลขที่มักนำไปใช้ในการ ประเมินสภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงใช้ในการพิจารณาการตั้งราคาสินค้าควบคู่กับ กลยุทธ์การตั้งราคา (Price Strategy)
เนื่องจาก ทั้ง 2 ตัวเลขเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่าควรตั้งราคาไว้ที่ระดับราคาใดผู้บริโภคถึงจะสามารถซื้อได้ จากการที่ทั้ง 2 ประเด็นเป็นตัวเลขที่มาจากเรื่องของกำลังซื้อของผู้บริโภค
วิธีคำนวณ ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา คำนวณ ได้ 2 วิธีคือ
- ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาแบบจุด
- ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาแบบช่วง
โดยความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาจะคำนวณออกมาโดยมีหน่วยเป็น ร้อยละ หรือ เปอร์เซ็นต์
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา แบบจุด
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (ตัวย่อ PED หรือ Ep) = เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของความต้องการซื้อ ÷ เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคา
เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการซื้อ = ความต้องการซื้อใหม่ – ความต้องการซื้อเก่า
เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคา = ราคาใหม่ – ราคาเก่า
สมมติว่า สินค้า A ราคา 5 บาท มีปริมาณความต้องการซื้อ 100 หน่วย เมื่อราคาสูงขึ้นเป็น 7 บาท ปริมาณความต้องการซื้อลดลงเหลือ 70 หน่วย
จากตัวอย่างด้านบนจะเห็นว่า:
เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการซื้อ เปลี่ยนไป 30 หน่วย หรือคิดเป็น 30% (-30 ÷ 100 x 100)
เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของราคา เปลี่ยนไป 2 บาท หรือคิดเป็น 40% (2 ÷ 5 x 100)
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา หรือ Ep = -30 ÷ 40 = -0.75%
ดังนั้น ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา คือ -0.75% ซึ่งอธิบายได้ว่าถ้าหากราคาสินค้า A (Price) เพิ่มขึ้น 1% ความต้องการสินค้า A จะลดลง -0.75%
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา แบบช่วง
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาแบบช่วง = (ΔQ ÷ ΔP) x [(P1 + P2) ÷ (Q1 + Q2)]
ΔQ = Q1 – Q2 หรือ ปริมาณเก่า – ปริมาณใหม่
ΔP = P1 – P2 หรือ ราคาเก่า – ราคาใหม่
P1 คือ ราคาเก่า, P2 คือ ราคาใหม่, Q1 คือ ปริมาณความต้องการเก่า และ Q2 คือ ปริมาณความต้องการใหม่
สมมติว่า สินค้า B ราคา 5 บาท มีปริมาณความต้องการซื้อ 100 หน่วย เมื่อราคาสูงขึ้นเป็น 7 บาท ปริมาณความต้องการซื้อลดลงเหลือ 70 หน่วย
ΔQ = 100 – 70 = 30
ΔP = 5 – 7 = -2
แทนค่าลงในสมการจะได้ PED = (30 ÷ (-2)) x [(5 + 7) ÷ (100 + 70)]
PED = -1.0588
อธิบายได้ว่า ถ้าหากราคาสินค้า B (Price) เพิ่มขึ้น 1% ความต้องการสินค้า B จะลดลง 1.0588%
และสามารถบอกได้ว่า สินค้า B เป็นสินค้าประเภทที่มี ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคามาก (Elasticity Demand) เนื่องจาก |-1.0588| มากกว่า 1
สำหรับค่าที่ได้จากการคำนวณความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา ควรออกมาเป็นลบถ้าหากราคาสูงขึ้น เพราะราคาสินค้า (Price) จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงข้ามกับปริมาณสินค้า (Quantity) อย่างที่หลายคนน่าจะเคยเห็นจาก Law of Demand หรือ กฎของอุปสงค์ ที่อธิบายไว้ว่า:
- ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น (Price สูง) ความต้องการซื้อจะลดลง (Demand ต่ำ)
- ราคาสินค้าลดลง (Price ต่ำ) ความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้น (Demand สูง)
สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นฐานของความยืดหยุ่นของอุปสงค์ (Elasticity of Demand)