เสถียรภาพราคา คืออะไร?
เสถียรภาพราคา คือ สภาวะที่ระดับราคาทั่วไปในระบบเศรษฐกิจคงที่หรือเปลี่ยนแปลงช้ามาก เสถียรภาพด้านราคา (Price Stability) มักจะใช้เป็นเป้าหมายสำคัญของนโยบายการเงิน (Monetary Policy) ควบคู่ไปกับเป้าหมายอื่นอย่างเช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเสถียรภาพทางการเงิน
เสถียรภาพราคา (Price Stability) สามารถวัดได้โดยใช้ตัวบ่งชี้ที่หลากหลาย แต่โดยทั่วไปแล้วในทางปฏิบัติอัตราเงินเฟ้อถือเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดเสถียรภาพด้านราคาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเชื่อถือได้มากที่สุด และมักจะใช้ในนโยบายของธนาคารกลางที่มุ่งบรรลุเสถียรภาพด้านราคา
เสถียรภาพราคาโดยส่วนใหญ่จึงเป็นบริบทของการที่อัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
เสถียรภาพด้านราคาที่วัดด้วยการใช้อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) จะวัดการเพิ่มขึ้นของเปอร์เซ็นต์ในระดับราคาทั่วไปของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อแสดงความเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ มีหลายวิธีในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ แต่รูปแบบการวัดที่ใช้บ่อยที่สุดคือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) คำนวณโดยการเปรียบเทียบราคาของตะกร้าสินค้าและบริการเดียวกันในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ เสถียรภาพราคา (Price Stability) ยังสามารถวัดได้ด้วยตัวบ่งชี้อื่น อย่างเช่น การวัดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Rate) หรือแม้กระทั่งตลาดการเงิน เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และดัชนีราคาหุ้น
โดยปกติแล้วธนาคารกลางของแต่ละประเทศมักจะตั้งเป้าหมายให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ (Inflation Targeting) และคงที่ในระยะปานกลาง ซึ่งมักจะกำหนดไว้ที่ประมาณ 2% ต่อปี
เสถียรภาพราคา (Price Stability) สะท้อนอะไร
เมื่อราคาสินค้ามีเสถียรภาพ (ราคาคงที่) จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถวางแผนการซื้อสินค้าและการลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น และธุรกิจต่าง ๆ สามารถตัดสินใจในระยะยาวโดยพิจารณาจากต้นทุนและรายได้ที่คาดการณ์ได้มากขึ้น
ในทางกลับในเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพราคา ราคาของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น เหตุการณ์ในลักษณะของการที่เงินเดือนของผู้บริโภคยังคงเท่าเดิม โดยในวันนี้ราคาข้าวสารจำนวนหนึ่งอยู่ที่ 200 บาท แต่ผ่านไปในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 7 วันข้าวสารมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท และในอีก 5 วันข้าวสารราคาลดลงไปอีก
กล่าวคือ ในเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพราคาเป็นเรื่องยากในการคาดเดาราคาสินค้าและบริการของทั้งประชาชนและผู้ผลิต
สรุป เสถียรภาพราคา (Price Stability) คือ สิ่งที่จะช่วยรักษาสมดุล (Balance) ของราคาเอาไว้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เปลี่ยนแปลงมากจนเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค เพื่อช่วยเอื้อต่อการวางแผนการใช้จ่ายและลงทุน ในขณะที่ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถประมาณการกำลังการผลิตและการลงทุนได้ง่าย
ทั้งหมดช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการจ้างงานอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก ความสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงิน – ธนาคารแห่งประเทศไทย และ The Fed and the Dual Mandate – Federal Reserve Bank Of St. Louis