GreedisGoods » Economics » การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) คืออะไร? เป็นอย่างไร

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) คืออะไร? เป็นอย่างไร

by Kris Piroj
Privatization คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คืออะไร?

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ กระบวนการที่ใช้ในการลดหรือยุติบทบาทของรัฐที่มีในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เป็นการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือสิทธิบางอย่างด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินหรือธุรกิจจากภาครัฐไปยังภาคเอกชน ซึ่งอาจจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เป็นธุรกิจของรัฐ (Public Sector) ที่เกียวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ สินแร่ ทองคำ น้ำ และยังรวมถึงบริการสาธารณะอย่างการคมนาคมภายในประเทศ ไปรษณีย์ หรือแม้กระทั่งบางเรือนจำในสหรัฐอเมริกา

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) เป็นเหมือนการที่รัฐขายกิจการให้เอกชนเข้ามาบริหาร ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งในบริบทของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยการขายหุ้นของบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยกฎหมายเอกชน หรือการแปลงทุนของกิจการของรัฐเป็นหุ้นเพื่อออกขายให้กับเอกชนก็ได้

ตัวอย่างเช่น การที่กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงมาเหลือที่ 47.86% ในปี 2563 ซึ่งทำให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ (State-owned Enterprise)

หากอธิบายให้ง่ายกว่านั้น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) คือ การแปลงสภาพความเป็นราชการไปสู่ความเป็นเอกชนนั่นเอง ซึ่งอาจจะกลายเป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นหากำไรหรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรก็ได้

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทำอย่างไรได้บ้าง

วิธีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสามารถทำได้มากมายหลายรูปแบบ แต่สามารถแบ่งแนวทางในการแปรรูปได้เป็น 2 แนวทาง คือ การโอนกรรมสิทธิ์บางส่วนให้กับเอกชน (ลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการของรัฐ) และการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดให้กับเอกชน (รัฐเลิกมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการ)

โดยทั้ง 2 รูปแบบของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอาจทำได้ด้วยวิธีการเหล่านี้:

  • สัญญาเช่าทรัพย์สินหรือกรรมสิทธิ์บางอย่าง โดยที่รัฐยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสามารถเรียกคืนได้
  • สัญญาจ้างชั่วคราว ในการบริหาร หรือดำเนินงานในบางส่วนงาน
  • การให้สัมปทาน
  • การออกขายหุ้นสู่สาธารณะผ่านตลาดหลักทรัพย์
  • การขายกิจการให้เอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์
  • กิจการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
  • การเลิกกิจการ (เพื่อเปิดเสรีต่อไป)
  • การยกเลิกข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างองค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจ

ทำไมถึงต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

เป้าหมายที่พบได้บ่อยที่สุดของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) คือ เพื่อการประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจดังกล่าว

เนื่องจากการดำเนินงานโดยภาคเอกชนในรูปของธุรกิจ เอกชนจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจดังกล่าวเพื่อสร้างผลกำไรด้วยการพัฒนาสินค้าหรือบริการดังกล่าวให้สามารถแข่งขันได้

ในมุมของภาครัฐการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นสิ่งที่มีเป้าหมายหลักในการลดภาระของภาครัฐในการดำเนินกิจการดังกล่าวลง ด้วยการผลักภาระดังกล่าวไปที่ภาคเอกชนที่เข้ามาดำเนินงานแทน เพื่อกำจัดต้นทุนและความเสี่ยงของภาครัฐในการดำเนินกิจการดังกล่าว

นอกจากนี้ การขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจออกไปยังทำให้ภาครัฐมีรายได้เข้าคลังจากการขายหุ้นของกิจการที่ถูกแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือความเห็นที่เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ อย่างเช่น ไฟฟ้า น้ำ สาธารณสุข และโรงเรียนไม่ควรถูกขับเคลื่อนด้วยกำไรหรือกลไกตลาด อีกทั้งในบางประเทศที่มีกลไกการควบคุมที่อ่อนแอก็อาจนำไปสู่การแปรรูปที่ไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

บทความที่เกี่ยวข้อง