หนี้สาธารณะ คืออะไร?
หนี้สาธารณะ คือ หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมของภาครัฐบาล เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ของประเทศเมื่อประเทศมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย โดยหนี้สาธารณะ (Public Debt) สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งรัฐบาลกลาง การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และการค้ำประกันหนี้สินโดยรัฐบาล
หนี้สาธารณะ (Public Debt) ตามปกติมักจะเป็นการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวหรือสร้างโอกาสอย่างมหาศาลให้กับประเทศในอนาตค รวมถึงทำให้เกิดการจ้างการจำนวนมากให้คนในประเทศผ่านการกระตุ้นด้วยรายจ่ายของรัฐบาล อย่างเช่น การก่อหนี้เพื่อใช้กับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่าง ตลอดจนการใช้ในกรณีฉุกเฉินของประเทศ
ที่มาของการกู้เงินของภาครัฐบาลในฐานะของหนี้สาธารณะสามารถกู้ได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงินภายในประเทศและต่างประเทศ ภาคเอกชน รัฐบาลต่างประเทศ และองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ
กล่าวคือ หนี้สาธารณะ หรือ Public Debt คือหนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อประเทศมีเงินไม่พอรายจ่ายแต่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินในโครงการบางอย่าง ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในลักษณะของนโยบายขาดดุล (รัฐบาลใช้เงินมากกว่ารายได้)
ทั้งนี้ หนี้สาธารณะ หรือ Public Debt ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับหนี้ที่คนทั่วไปกู้เงินเพื่อนำไปใช้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือสินค้าฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด ซึ่งในกรณีนั้นจะเรียกว่าหนี้ครัวเรือน (Household Debt)
หนี้สาธารณะ ดีหรือไม่?
หนี้สาธารณะ (Public Debt) ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป เช่นเดียวกันกับการก่อหนี้อื่น ๆ ที่ปัญหาจะอยู่ที่เหตุผลของการนำเงินที่ก่อหนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะถ้าหากว่าผู้ก่อหนี้สามารถบริหารเงินที่กู้มาได้ดีในท้ายที่สุดก็จะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าจำนวนเงินที่กู้มา
ในกรณีของหนี้สาธารณะของภาครัฐเองก็เช่นกัน เมื่อรัฐบาลก่อหนี้เพื่อนำไปใช้ดำเนินนโยบายที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสามารถคืนทุนในระยะยาวได้จริง รายได้ของประชาชนก็จะเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ภาษีที่เป็นรายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นตาม
ตัวอย่างเช่น ประเทศ A กู้เงินมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อผลักดันประเทศให้เป็นเมืองท่าเป็นศูนย์กลางของ Logistics ในภูมิภาค หากรัฐบาลของประเทศดังกล่าวมีความสามารถมากพอจะทำให้แผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ในระยะยาวประเทศก็จะมีทั้งรายได้เพิ่มขึ้นและเกิดการสร้างงานตามมาเป็นจำนวนมาก
ในทางกลับกัน ในประเทศที่ก่อหนี้สาธารณะอย่างไม่เกิดประโยชน์โดยไม่ทำให้เกิดการลงทุนหรือการจ้างงานใด ๆ ที่จะทำให้รัฐได้เงินกลับมา ในท้ายที่สุดจะทำให้ปริมาณหนี้ของประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบ และนำไปสู่การเพิ่มอัตราการเก็บภาษีจากประชาชนเพื่อให้เพียงพอกับการชำระหนี้ในท้ายที่สุด
เพดานหนี้สาธารณะ คืออะไร?
เพดานหนี้สาธารณะ คือ จำนวนที่ประเทศหนึ่งได้ตั้งเอาไว้ว่าสามารถก่อหนี้ได้สูงสุดมากเท่าใดในแต่ละปีงบประมาณ อย่างเช่น เพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบันจะอยู่ที่ 70% ของ GDP จากการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ภายใต้คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2564
ทั้งนี้ ในแต่ละประเทศอาจจะมีหรือไม่มีเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ก็ได้ เนื่องจากเพดานหนี้สาธารณะเป็นเพียงนโยบายทางการเงินที่มีไว้เพื่อรักษาวินัยทางการเงินของประเทศเท่านั้น และในประเทศที่มีเพดานหนี้สาธารณะก็อาจจะตั้งเพดานหนี้สาธารณะในรูปแบบที่แตกต่างกัน อย่างเพดานหนี้สาธารณะในรูปแบบของสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศไทย หรือเพดานหนี้สาธารณะที่เป็นอัตราคงที่ (Flat) แบบสหรัฐอเมริกา
ใครจ่ายหนี้สาธารณะ?
ผู้ที่มีหน้าที่ในการหาเงินมาชำระคืนหนี้สาธารณะ คือ รัฐบาล ซึ่งรายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีของประชาชนและภาคเอกชน อย่างเช่น
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax : PIS)
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax : CIS)
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax : VAT)
- และภาษีในรูปแบบอื่น ๆ
ทำให้สามารถพูดได้ว่าประชาชนทุกคนที่จ่ายภาษี คือ ผู้ที่มีส่วนในการใช้คืนหนี้สาธารณะนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลจะทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ก็จะส่งผลกลับมาที่การที่รายได้จากภาษีของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทำให้การก่อหนี้สาธารณะในรูปแบบดังกล่าวมักจะไม่นำไปสู่การเพิ่มภาระให้กับประชาชนจากภาษี (และในทางกลับกัน)
หนี้สาธารณะของไทย ติดตามจากที่ไหน?
หนี้สาธารณะของไทย จัดทำโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (Public Debt Management Office) โดยจะประกาศ ตัวเลขหนี้สาธารณะ ของประเทศไทยออกมาเป็นรายเดือน ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถดูข้อมูลหนี้สาธารณะของประเทศไทยได้ที่เว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (Public Debt Management Office)

โดยข้อมูลหนี้สาธารณะของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (Public Debt Management Office) จะแสดงสัดส่วนการก่อหนี้สาธารณะของประเทศไทยว่ามาจากส่วนใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็น หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจ หนื้หน่วยงานของรัฐ และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ตลอดจนภาระหนี้สาธารณะคงค้างในปัจจุบันของประเทศไทย

นอกจากนี้ ในกรณีของหนี้สาธารณะของประเทศอื่น ๆ จะสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะในแต่ละประเทศ ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลหนี้สาธารณะของทุกประเทศทั่วโลกอย่างง่ายได้จากเว็บไซต์ usdebtclock.org