QCD คืออะไร?
QCD คือ แนวคิดที่เป็นโครงร่างในการควบคุมคุณภาพในการผลิตของธุรกิจ ประกอบด้วย Quality (คุณภาพ) Cost (ต้นทุน) และ Delivery (การจัดส่ง) โดยการใช้แนวคิด QCD จะใช้ในการประเมินวัดผลในส่วนประกอบต่าง ๆ ของกระบวนการผลิตและซึ่งทำให้เห็นข้อเท็จจริงและตัวเลขที่ช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ผ่านการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย
โดยตัวอักษรย่อทั้ง 3 ตัวของ QCD แต่ละตัวมีความหมายดังนี้:
- Quality คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ
- Cost คือ ต้นทุนการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบ
- Delivery คือ การจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า
ประโยชน์ของ QCD คือการเป็นกรอบในการวัดผลที่ไม่ซับซ้อน สำหรับการวัดผลกระบวนการผลิตทั้งแบบง่ายหรือซับซ้อนก็ได้ เนื่องจาก Quality, Cost, และ Delivery เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจและในทุกส่วนของธุรกิจ ทำให้ QCD ยังเป็นหลักการที่นิยมนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการประเมินการจัดซื้อ
โดยที่ Quality คือคุณภาพของสิ่งที่จัดซื้อ Cost คือต้นทุนของสิ่งที่จัดซื้อในกรอบราคาที่กำหนด และ Delivery คือการจัดส่งของที่เราสั่งซื้อ
Quality
Quality คือ มิติด้านคุณภาพของสินค้าที่ผลิต เป็นมิติแรกของแนวคิด QCD โดยปกติสินค้าที่ผลิตควรจะมีคุณภาพที่ดีเมื่อเทียบกับราคา (ไม่จำเป็นจะต้องดีที่สุดเสมอไป) และอยู่ในระดับที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้เท่ากับหรือสูงกว่าความคาดหวังของลูกค้า
การวัดคุณภาพ (Quality) ของสินค้าสามารถวัดได้จากหลายปัจจัย โดยในเบื้องต้นรากฐานที่มีผลต่อคุณภาพสินค้า (Quality) ได้แก่
- ประสิทธิภาพของสินค้า (Performance)
- ประสิทธิภาพของสินค้าที่สอดคล้องต่อความคาดหวังของลูกค้า (Conformance)
- คุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมของสินค้า (Extra Features)
- สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)
- ความคงทน (Durability)
- ความเชื่อถือได้ (Reliability)
- การบำรุงรักษา (Serviceability)
- ส่วนประกอบหรือวัตถุดิบในการผลิต (Components)
ประสิทธิภาพของสินค้า คือระดับของคุณภาพสินค้าในสิ่งที่สินค้าควรจะทำได้ เช่น รถยนต์ควรจะใช้ในการเดินทางได้ ซึ่งคุณภาพของรถความเร็วของรถก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละระดับราคา
ประสิทธิภาพของสินค้าที่ตรงหรือสอดคล้องต่อความคาดหวังของลูกค้า คือคุณภาพสินค้าที่สอดคล้องต่อความคาดหวังของลูกค้า เช่น รถราคาเท่านี้ควรจะได้ Options ประมาณนี้เมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ในตลาด
คุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมของสินค้า เป็นคุณสมบัติเพิ่มเติมของสินค้าที่เพิ่มมาจากความสามารถทั่วไปของสินค้า (อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ได้) เช่น Router ที่มีความสามารถในการกระจายความเร็วให้เหมาะกับสิ่งที่ทุกคนที่กำลังเชื่อมต่อ
สุนทรียศาสตร์ หรือรูปลักษณ์ของสินค้า ซึ่งเป็นได้ทั้งรูป รส กลิ่น สัมผัส เสียง ขึ้นอยู่กับแต่ละสินค้า เช่น หน้าตาของรถยนต์
ความคงทนของสินค้า คืออายุการใช้งานของสินค้าก่อนที่จะต้องเปลี่ยนในครั้งต่อไป
ความเชื่อถือได้ (Reliability) ในที่นี้คือความแน่นอนไว้ใจได้ของสินค้า อธิบายให้เห็นภาพก็คือ รถยนต์ที่ไม่พังง่ายหรือบ่อย ก็คือรถยนต์ที่มีความ Reliable
ปัจจัยด้านการบำรุงรักษา คือความง่ายในการบำรุงรักษาเอง (ดูแลง่ายไหม?) รวมถึงความรวดเร็วในการใช้บริการบำรุงรักษา เช่น เมื่อรถยนต์ของคุณเสีย การส่งซ่อมต้องรออะไหล่นานไหมหรือช่างจัดการซ่อมได้เร็วมากน้อยแค่ไหน
Cost
Cost คือ มุมมองด้านต้นทุนในการผลิตสินค้า โดยธุรกิจส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยต้นทุนการ 3 แบบ ได้แก่ ต้นทุนวัตถุดิบ (Raw materials), ต้นทุนแรงงาน (Direct labour), และต้นทุนอื่น ๆ (Overhead) แต่ต้นทุนของธุรกิจไม่ได้มีเพียงแค่ต้นทุนการผลิต แต่ยังรวมไปถึงต้นทุนการเก็บรักษาสินค้า ต้นทุนการขนส่งสินค้า ต้นทุนในการขายและบริหาร การโฆษณา และต้นทุนอื่น ๆ
โดยธุรกิจสามารถลดต้นทุนการผลิตเหล่านี้ได้ด้วยหลากหลายวิธี เช่น ใช้การผลิตแบบ Lean เพื่อลดความสูญเปล่าในการผลิต (Waste), การผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time) เพื่อลดต้นทุนในการเก็บรักษา, และ ECRS เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้ความสูญเปล่าลดลง เป็นต้น
Delivery
Delivery คือมุมมองด้านการขนส่งสินค้าจนสินค้าถึงมือลูกค้า โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ขั้นตอนก่อนการขนส่งสินค้า (Before Delivery), ระหว่างการขนส่งสินค้า (During Delivery), และหลังจากขนส่งสินค้า (After Deliver)
ซึ่งในมิติของ Delivery หรือการขนส่งสินค้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระจายสินค้าให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้เมื่อต้องการ และส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด