GreedisGoods » Economics » มาตรการ QE กับตลาดหุ้น เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

มาตรการ QE กับตลาดหุ้น เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

by Kris Piroj
QE กับตลาดหุ้น มาตรการ QE ส่งผลต่อตลาดหุ้น

แม้ว่ามาตรการ QE มีเป้าหมายที่การลดต้นทุนการกู้ยืมและการเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับผลจากเงิน QE คือตลาดหุ้น ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกลไกของมาตรการ QE ว่าส่งผลมาที่ตลาดหุ้นได้อย่างไร

มาตรการ QE กับตลาดหุ้น

QE กับตลาดหุ้น ตามปกติจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือการทำ QE หรือ Quantitative Easing จะส่งผลให้เงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นด้วยพฤติกรรม Search for Yield ของนักลงทุน เนื่องจากมาตรการ QE จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ในตลาด

การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการทำ Quantitative Easing หรือ QE ของธนาคารกลางจะส่งผลให้ราคาของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นดังกล่าวราคาสูงขึ้น ซึ่งเมื่อพันธบัตรราคาสูงขึ้นจะส่งผลให้ Bond Yield ของพันธบัตรลดลงตามกลไกของ Bond Yield หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

เมื่อพันธบัตรที่ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง (Risk Free) ให้ผลตอบแทนลดลง (หรือคำนวณ Real Yield ออกมาแล้วมีค่าต่ำกว่าเงินเฟ้อ) ไม่คุ้มที่จะนำเงินมาลงทุนอีกต่อไป ก็จะกระตุ้นให้นักลงทุนมองหาสินทรัพย์อื่นเพื่อทำผลตอบแทนให้ได้เท่าเดิม (เราเรียกพฤติกรรมนี้เรียกว่า Search for Yield)

พฤติกรรม Search for Yield ดังกล่าว นักลงทุนจะย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่าเพื่อรักษาผลตอบแทนให้ได้เท่าเดิม ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นอาจเป็นไปได้ทั้ง หุ้นกู้ ทองคำ หุ้น หรือแม้กระทั่ง Cryptocurrency อย่าง Bitcoin


มาตรการ QE กับตลาดหุ้น

อย่างที่บอกว่าเมื่อพันธบัตรรัฐบาลให้อัตราผลตอบแทน (Bond Yield) ที่ลดลง นักลงทุนก็จะมีพฤติกรรม Search for Yield ในการมองหาสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้นชดเชยผลตอบแทนที่หายไป หุ้นเองก็เป็นตัวเลือกหนึ่งเช่นกัน

เมื่อเงินไหลเข้ามาซื้อหุ้นก็จะทำให้ราคาหุ้น (ที่นักลงทุนเข้าซื้อ) สูงขึ้นตามกลไกราคา

การทำ QE แบบไร้ขีดจำกัด (Unlimited QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมในช่วงวิกฤติโควิดในปี 2020 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับเป็นบวกและทำ All Time High ไม่หยุด ทั้งที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า QE จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเงินลงทุนจะไหลเข้าสู่ตลาดที่ให้ผลตอบแทน Real Yield (ผลตอบแทนหลังหักเงินเฟ้อออก) ที่สูงกว่า


จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Fed ดึงเงินกลับ

แม้ว่าเป้าหมายของ QE คือการกระตุ้นเงินเฟ้อ แต่ความเสี่ยงของ QE ก็คือเงินเฟ้อ (Inflation) ที่ควบคุมไม่ได้ ปัญหาเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นเมื่อมาตรการ QE ถูกใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจดีอยู่แล้วที่จะทำมีปริมาณเงินในระบบมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อได้

แน่นอนว่าธนาคารกลางอย่าง Fed จะไม่ปล่อยให้เป็นแบบนั้น เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นจนถึงจุดหนึ่งธนาคารกลางก็จะดึงเงินกลับเพื่อทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมายที่ต้องการ

ทำให้เมื่อ Fed ดึงเงิน QE กลับออกมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเงินที่เคยใส่เข้ามาในระบบผ่านการทำ QE ที่เคยเข้าไปหนุนราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร หรือแม้กระทั่ง Bitcoin และ Cryptocurrency อื่น ๆ ก็จะหายไปไม่มากก็น้อย

หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ถ้าหากกลไกมาตรการ QE กับตลาดหุ้นที่อธิบายเมื่อตอนต้นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นคือผลของการทำ QE ดังนั้นถ้าธนาคารกลางดึงเงินกลับสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือด้านตรงข้ามนั่นเอง

สำหรับใครที่ต้องการติดตามว่าปัจจุบัน Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ มีปริมาณเงิน QE อยู่มากน้อยแค่ไหน และจะหยุดมาตรการ QE เมื่อไหร่สามารถติดตามได้จาก Fed Balance Sheet

บทความที่เกี่ยวข้อง