อัตราส่วน คืออะไร?
อัตราส่วน คือ การเปรียบเทียบทางคณิตศาสตร์ระหว่างตั้งแต่ 2 ปริมาณขึ้นไป เพื่อแสดงความแตกต่างในลักษณะของจำนวนเท่าระหว่างจำนวนหรือปริมาณเหล่านั้นที่นำมาเปรียบเทียบกัน โดยอัตราส่วน (Ratio) มักจะเขียนอยู่ในรูปเศษส่วนหรือเครื่องหมายทวิภาค (“:”) ระหว่างตัวเลข
ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนนักศึกษา 80 คนต่ออาจารย์ 2 คน ที่สามารถเขียนอัตราส่วนได้ในรูป 80/2 หรือ 80:2 ซึ่งอัตราส่วน 80 ต่อ 2 หมายความว่าทุกนักศึกษา 80 คนจะมีอาจารย์ 2 คน
อัตราส่วน (Ratio) ยังสามารถทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีกด้วย จากตัวอย่างในข้างต้น ในกรณีที่มีนักศึกษา 400 คน เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วน 80 ต่อ 2 จะพบว่าในนักศึกษา 400 จะต้องมีอาจารย์ 10 คน
นอกจากนี้ อัตราส่วนยังสามารถทำให้ง่ายขึ้นเพื่อลดความซับซ้อนได้โดยการหารจำนวนทั้งสองด้วยตัวหารร่วมมาก (จากตัวอย่าง คือ 2) ก็จะเป็นอัตราส่วนอย่างง่าย คือ 40 ต่อ 1
อัตราส่วน หรือ Ratio คือสิ่งที่มักจะพบได้ในในการเปรียบเทียบทางคณิตศาสตร์ การเงิน และสถิติ เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ปริมาณ สัดส่วน หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ อย่างเช่น อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio หรือ P/E Ratio) ที่บอกว่าราคาหุ้นเป็นกี่เท่าของกำไรต่อหุ้นของบริษัท
กล่าวคือ อัตราส่วน (Ratio) คือการเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่าง 2 จำนวน ว่าถ้าจำนวนหนึ่งคือ X อีกจำนวนที่นำมาเปรียบเทียบจะมีค่าเท่าไหร่ อย่างเช่น อัตราส่วนนักศึกษาชาย 1 คน ต่อนักศึกษาหญิง 4 คน ซึ่งคำตอบของการหาอัตราส่วน (Ratio) จะได้มาจากการหารเสมอ
วิธี การหาอัตราส่วน (Ratio)
วิธีการหาอัตราส่วนว่าเป็นกี่เท่าระหว่าง 2 ปริมาณสามารถหาได้ด้วยการหาร ดังนั้น ถ้าหากสมมติว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีนักศึกษาชาย 1,600 คน และมีนักศึกษาหญิง 2,800 คน
เมื่อหาอัตราส่วนด้วยการหารจะพบว่า อัตราส่วน = 2800 ÷ 1600 = 1.75 คน ซึ่งหมายความว่าอัตราส่วนของนักศึกษาหญิงต่อนักศึกษาชาย 1 คนคือ 1.75 คน หรือ 1:1.75 คน
และในทางกลับกันหากต้องการหาอัตราส่วนนักศึกษาชายต่อนักศึกษาหญิง 1 คน จะได้ อัตราส่วน = 1600 ÷ 2800 = 0.57 คน ซึ่งหมายความว่า อัตราส่วนของนักศึกษาชายต่อนักศึกษาหญิง 1 คนคือ 0.57 คน หรือ 1:0.57 คน
ทั้งนี้ โดยปกติอัตราส่วน (Ratio) มักจะเขียนอยู่ในรูปที่เข้าใจง่าย (ไม่มีทศนิยม) เพื่อลดความซับซ้อน ด้วยตัวหารร่วมมาก
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อทราบอัตราส่วน (Ratio) ระหว่าง 2 จำนวนมีอัตราส่วนเท่าไหร่ ก็จะนำไปสู่กรณีที่ 2 เพื่อหาว่าในจำนวนที่มากขึ้น ในอัตราส่วนที่เท่ากันจะเป็นจำนวนเท่าไหร่
จากตัวอย่างเดิมเมื่อเรารู้แล้วว่าสัดส่วนของนักศึกษาชาย 1,600 คน และนักศึกษาหญิง 2,800 คน มีสัดส่วนระหว่างนักศึกษาหญิงต่อนักศึกษาชาย 1 คนคือ 1:1.75 คน ก็จะสามารถหาได้ว่าถ้ามีนักศึกษาชาย X คนจะมีนักศึกษาหญิงกี่คน และในทางกลับกันถ้าหากมีนักศึกษาหญิง Y คนจะมีนักศึกษาชายกี่คน
ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการทราบว่าในสัดส่วนนักศึกษาหญิงต่อนักศึกษาชาย 1:1.75 ดังกล่าว ในกรณีที่มีนักศึกษาหญิง 600 คนจะมีนักศึกษาชายอยู่เท่าไหร่
ก็จะสามารถเทียบอัตราส่วนได้โดยใช้ 600 คูณเข้าไปในอัตราส่วนทั้ง 2 ข้าง จะได้เป็น 600 x 1 : 600 x 1.75 = 600 : 1050 คน
อัตราส่วน กับ การวิเคราะห์งบการเงิน
สำหรับใครที่เรียนหรือศึกษาเกี่ยวกับด้านการเงินจะพบว่าอัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) ที่ใช้ในการวิเคราะห์งบการเงินของกิจการก็เป็นอัตราส่วนที่เป็นการหารเช่นกัน
อย่างเช่นอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio) ที่เป็นการเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) กับหนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) เพื่อหาว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นกี่เท่าของหนี้สินหมุนเวียน
สมมติว่า บริษัท AIG มี สินทรัพย์หมุนเวียน 1,000 บาท และมีหนี้สินหมุนเวียน 200 บาท อัตราส่วนก็จะเป็น 1,000 ÷ 200 = 5 ซึ่งหมายความว่า บริษัท AIG มีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียน 5 เท่า
จะเห็นว่า อัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้เป็นการหาว่าตัวเศษ (ตัวด้านบน) เป็นกี่เท่าของส่วน (ตัวหาร) เพื่อการเปรียบเทียบผลดำเนินงานบางอย่างของธุรกิจ
ในการวิเคราะห์งบการเงิน เป็นเรื่องที่ดีที่คุณจะรู้ว่าการทำให้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินออกมาดูดี เกี่ยวข้องกับตัวเศษและตัวหาร (ตัวส่วน) จึงเป็นการดีกว่าที่คุณจะวิเคราะห์ไปถึงทั้ง 2 ตัวเลขที่นำมาคำนวณในแต่ละอัตราส่วนทางการเงินว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไม่ออกมาเป็นตัวเลขเหล่านั้น