เมื่อทองคำกำลังร้อนแรงสิ่งหนึ่งที่ต้องหยิบยกมาพูดถึงคือ Real Yield หรือ ผลตอบแทนที่แท้จริง มาดูกันว่า Real Yield คือ อะไร? และสำคัญอย่างไร
Real Yield คือ ผลตอบแทนที่แท้จริงที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุน โดย Real Yield จะคำนวณมาจากผลตอบแทนของการลงทุนที่ได้รับ (Nominal Yield) หักออกด้วยอัตราเงินเฟ้อของเงินสกุลนั้น (Inflation) นั่นหมายความว่าถ้าอัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงก็จะยิ่งทำให้ Real Yield ลดลง
หรือเขียนเป็นสมการได้คือ Real Yield = Nominal Yield – Inflation Expectation
อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง หรือ Real Yield คือ เครื่องมือที่นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้สำหรับการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่มากกว่ามูลค่าของเงินที่จะลดลงตามเงินเฟ้อ
ดังนั้น เมื่อ Real Yield ปรับลดลงก็จะหมายความว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรลดลง และเมื่อลดลงมากจนถึงจุดที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นดีกว่า เงินลงทุนจากพันธบัตรก็จะไหลไปหาสินทรัพย์ชนิดอื่น ซึ่งมักจะเป็นทองคำและหุ้น
ข้ามไปที่หัวข้อที่ต้องการ
วิธีคำนวณ Real Yield
วิธีคำนวณ Real Yield สามารถทำได้ง่ายและตรงไปตรงมาด้วยคณิตศาสตร์พื้นฐาน โดยการนำผลตอบแทนพันธบัตรลบออกด้วยอัตราเงินเฟ้อ หรือ Real Yield = Nominal Yield – Inflation Expectation

- Real Yield คือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่จะได้จากการคำนวณ
- Nominal Yield คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ระบุไว้ อย่างเช่น ผลตอบแทนที่เขียนไว้หน้าพันธบัตร
- Inflation คือ อัตราเงินเฟ้อ หรือ อัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (Inflation Expectation)
ตัวอย่าง การหาผลตอบแทนที่แท้จริง
สมมติว่า พันธบัตรสหรัฐอายุ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐอยู่ที่ 6% และพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 12% ต่อปี โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 9%
Real Yield พันธบัตรสหรัฐ = 10 – 6 = 4%
Real Yield พันธบัตรญี่ปุ่น = 12 – 9 = 3%
จากตัวอย่างจะเห็นว่า แม้ว่าที่หน้าพันธบัตรของญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนถึง 12% แต่เมื่อหักเงินเฟ้อออกไป กลับให้ผลตอบแทนที่แท้จริงหรือ Real Yield เพียง 3% เท่านั้น
ในขณะที่พันธบัตรสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนหน้าพันธบัตรน้อยกว่า กลับให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) มากกว่า โดยให้ผลตอบแทนที่ 4%
ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Real Yield
อย่างที่ได้อธิบายในตอนต้นว่า Nominal Yield คือ อัตราผลตอบแทนในการลงทุน ในที่นี้คือผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเปลี่ยนไปตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ที่กำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ
เมื่อธนาคารกลางลดดอกเบี้ยลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Nominal Yield ก็จะลดลง ส่งผลให้ Real Yield ลดลงตาม
อีกปัจจัยหนึ่งคือปัจจัยจากเงินเฟ้อที่เป็นตัวเลขที่นำมาลบกับผลตอบแทนตามที่ได้อธิบายในสมการด้านบน
ส่งผลให้เมื่ออัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (Inflation Expectation) เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ Real Yield ลดลงตามเช่นกัน