Real Yield คืออะไร?
Real Yield คือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง ซึ่งปรับตามเงินเฟ้อเพื่อใช้สะท้อนถึงกำลังซื้อที่แท้จริงของผลตอบแทนการลงทุนที่ได้รับ โดย Real Yield จะคำนวณมาจากผลตอบแทนของการลงทุนที่ได้รับ (Nominal Yield) หักออกด้วยอัตราเงินเฟ้อของเงินสกุลนั้น (Inflation)
Real Yield เป็นตัวเลขผลตอบแทนจากการลงทุนที่นักลงทุนจะใช้ในการแสดงผลตอบแทนที่แท้จริงที่นักลงทุนได้รับในฐานะกำลังซื้อ (Purchasing Power) ในอนาคตของจำนวนเงินดังกล่าว ด้วยการปรับผลตอบแทนที่ได้รับ (Nominal Yield) โดยหักอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ออกไป นั่นหมายความว่า ยิ่งอัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงจะยิ่งทำให้ Real Yield ลดลง
โดยทั่วไปนักลงทุนจะใช้ Real Yield หรือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง ในฐานะเครื่องมือสำหรับการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้น ที่จะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่มากกว่ามูลค่าของเงินที่จะลดลงตามเงินเฟ้อ
ตามปกติ Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีจะถูกนำมาใช้เปรียบเทียบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนำ Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ไปใช้เปรียบเทียบกับราคาทองคำหรือดัชนีหุ้นที่ต้องการเปรียบเทียบผลตอบแทน

ด้วยเหตุดังกล่าว การที่ Real Yield ปรับลดลงก็จะหมายความว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรลดลง และเมื่อลดลงมากจนถึงจุดที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นดีกว่า เงินลงทุนจากพันธบัตรก็จะไหลไปหาสินทรัพย์ชนิดอื่น ซึ่งตามปกติมักจะเป็นทองคำและหุ้น
กล่าวคือ เมื่อ Real Yield คือสิ่งที่คำนวณมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Nominal Yield) และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ทำให้เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Nominal Yield) ลดลงด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการเทขายพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารกลางได้ซื้อไว้เมื่อครั้งที่ใช้มาตรการ QE หรืออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ Real Yield ลดลง
ในทางกลับกันเมื่อ Nominal Yield เพิ่มขึ้น จากทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลผ่านมาตรการ QE หรืออัตราเงินเฟ้อคาดหวัง (Inflation Expectation) ลดลง ก็จะทำให้ Real Yield เพิ่มขึ้น
วิธีคำนวณ Real Yield
วิธีคำนวณ Real Yield สามารถทำได้ง่ายและตรงไปตรงมาด้วยคณิตศาสตร์พื้นฐาน ด้วยการนำผลตอบแทนพันธบัตรลบออกด้วยอัตราเงินเฟ้อ
หรือเขียนเป็นสมการได้ว่า Real Yield = Nominal Yield – Inflation Expectation
โดยที่
- Real Yield คือ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่จะได้จากการคำนวณ
- Nominal Yield คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ระบุไว้ อย่างเช่น ผลตอบแทนที่เขียนไว้หน้าพันธบัตร
- Inflation Expectation คือ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต บางครั้งเรียกว่า Breakeven Inflation ซึ่งตามปกติจะใช้ตัวเลข 10-Year Breakeven Inflation Rate
สำหรับ Real Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 5, 7, 10, 20, และ 30 ปี สามารถดูแบบรายวันของทุกอายุได้จากเว็บไซต์กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Department of the Treasury) และในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) อาจใช้เงินเฟ้อในอัตราปัจจุบันก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่าง การหาผลตอบแทนที่แท้จริง
สมมติว่า พันธบัตรสหรัฐอเมริกาอายุ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 6% และพันธบัตรญี่ปุ่นอายุ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 12% ต่อปี โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 9%
Real Yield พันธบัตรสหรัฐอเมริกา = 10 – 6 = 4%
Real Yield พันธบัตรญี่ปุ่น = 12 – 9 = 3%
จากตัวอย่างจะเห็นว่า แม้ว่าหน้าพันธบัตรของญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนถึง 12% แต่เมื่อหักเงินเฟ้อออกไปกลับให้ Real Yield (ผลตอบแทนที่แท้จริง) เพียง 3% เท่านั้น ในขณะที่พันธบัตรสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนหน้าพันธบัตรน้อยกว่า กลับให้ Real Yield ที่มากกว่า โดยให้ผลตอบแทนที่ 4% เนื่องจากเงินเฟ้อต่ำกว่า
Real Yield สะท้อนอะไร?
การที่ Nominal Yield คืออัตราผลตอบแทนในการลงทุน ซึ่งในที่นี้คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ที่จะเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) ที่กำหนดโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เมื่อธนาคารกลางลดดอกเบี้ยลงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในฐานะ Nominal Yield ที่นักลงทุนได้รับจากพันธบัตรก็จะลดลงตาม ส่งผลให้ Real Yield ลดลงตาม
นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งคือปัจจัยจากเงินเฟ้อที่เป็นตัวเลขที่นำมาลบกับผลตอบแทนตามที่ได้อธิบายในสมการด้านบน กล่าวคือ เมื่ออัตราเงินเฟ้อคาดหวังหรือเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ Real Yield ลดลง และในทางกลับกันเมื่ออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ลดลงก็จะทำให้ Real Yield เพิ่มขึ้น
การที่ Real Yield ลดลงจะส่งผลให้นักลงทุนเริ่มไม่อยากลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรืออาจทำให้นักลงทุนเลือกที่จะย้ายเงินลงทุนออกจากพันธบัตรรัฐบาลไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น (มักจะเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น) เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ในช่วงเวลานั้น ซึ่งมักจะเป็นทองคำและหุ้นที่มีทิศทางราคาตรงข้ามกับ Real Yield โดยเราเรียกพฤติกรรมนี้ของนักลงทุนว่าพฤติกรรม Search for Yield หรือ พฤติกรรมแสวงหาผลกำไร

ในทางกลับกันสำหรับ Real Yield ที่สูงจะส่งผลให้นักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลความเสี่ยงที่ต่ำกว่าในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรกลับมาสูงอีกครั้ง และจะทำให้เงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดพันธบัตรจนทำให้ Bond Yield ลดลงตามกลไกของ Bond Yield ในที่สุด
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ในอีกบทบาทหนึ่งของ Real Yield จึงเกี่ยวข้องกับการที่นักลงทุนบางส่วนใช้ทิศทางของ Real Yield ในการคาดการณ์มุมมองของตลาดต่ออัตราเงินเฟ้อและการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต เพราะหากนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่มีความคิดเห็นในทิศทางใดก็จะตัดสินใจซื้อหรือขายพันธบัตรก่อนเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง ผลที่เกิดขึ้นของ Real Yield จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามสิ่งที่นักลงทุนมีมุมมองต่อเหตุการณ์เหล่านั้นและตัดสินใจก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น (ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจริงตามนั้นหรือไม่ก็ได้)
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก TradingView, Nasdaq และบทความได้แก้ไขจากที่ได้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563