GreedisGoods » Marketing » Red Ocean คืออะไร? รับมือ Red Ocean Strategy อย่างไร

Red Ocean คืออะไร? รับมือ Red Ocean Strategy อย่างไร

by Kris Piroj
Red Ocean คือ กลยุทธ์ Red Ocean Strategy คือ กลยุทธ์ น่านน้ำสีแดง Price War สงครามราคา

Red Ocean คืออะไร?

Red Ocean คือ น่านน้ำสีแดง ที่หมายถึงตลาดที่มีการแข่งขันสูงเนื่องจากสินค้ามีความแตกต่างกันน้อยหรือไม่แตกต่างกัน จนทำให้แต่ละฝ่ายมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ซึ่งนำไปสู่สงครามราคา (Price War) ที่ต่างฝ่ายต่างแข่งกันตัดราคาสินค้าเพื่อแข่งกับคู่แข่ง

นอกจากนี้ Red Ocean ยังหมายความรวมไปถึงตลาดที่มีความซับซ้อนในการแข่งขันจากเงื่อนไขด้านกฎระเบียบทางกฎหมาย และตลาดที่ต้องแข่งขันกันด้วยโปรโมชั่นทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การทำสงครามราคา (Price War) โดยตรงแต่ก็มีต้นทุนที่สูงไม่ต่างกัน

เพราะในสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันหรือแตกต่างกันเล็กน้อย การแข่งขันด้านราคาในลักษณะของ Red Ocean Strategy และการทำโปรโมชั่นที่ในทางเทคนิคแล้วไม่ได้ต่างจากการลดราคา เป็นทางออกเดียวของผู้แข่งขันในตลาดที่จะสามารถจูงใจให้ลูกค้าหันมาสนใจและซื้อสินค้าที่ลูกค้ามองว่าเหมือนกันได้

โดยคำว่า Red Ocean หรือน่านน้ำสีแดงเป็นคำที่ใช้เรียกในเชิงเปรียบเทียบจากการที่ทุกฝ่ายต่างแข่งขันกันด้วยราคาอย่างดุเดือดจนทำให้ทุกฝ่ายขาดทุน (ต่างฝ่ายต่างเสียเลือด) จนทำให้มหาสมุทรหรือน่านน้ำกลายเป็นสีแดงหรือสีเลือด ซึ่งกล่าวถึงอยู่ในหนังสือ Blue Ocean Strategy ของ W. Chan Kim และ Renée Mauborgne ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2004

กล่าวคือ สงครามราคา (Price War) ที่นำไปสู่ Red Ocean คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในตลาดของสินค้าที่ไม่มีความแตกต่างกันหรือแตกต่างกันน้อยมาก การลดราคาจึงเป็นทางออก (เพียงไม่กี่ทาง หรือทางเดียว) ของผู้ขายในการจูงใจให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าของตน

ธุรกิจแบบไหนอยู่ใน Red Ocean

ในทุกธุรกิจที่รุ่งเรืองมักจะไปจบที่น่านน้ำสีแดงหรือ Red Ocean เพราะเมื่อคนทั่วไปเห็นคนกลุ่มแรกที่เป็นผู้บุกเบิกในธุรกิจนั้นสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำก็จะมีผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่อยากได้บ้างเข้ามาอยู่เสมอซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติของ Business Cycle

สังเกตง่าย ๆ ให้ลองมองหาธุรกิจที่มีการแข่งขันกันต่ำในปัจจุบันแล้วให้ผลตอบแทนทีดีหรือดีมาก เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะพบว่าธุรกิจนั้นมีอยู่เต็มไปหมด เพียงแต่ธุรกิจที่เข้าสู่ตลาดได้ยาก ซึ่งคุณอาจเคยเห็นมาบ้างจากการวิเคราะห์ได้จาก Threat of New Entry จากการวิเคราะห์ Five Force Analysis อาจจะเป็นธุรกิจที่กลายเป็น Red Ocean ได้ยากหรือช้ากว่า

ในทางกลับกัน ธุรกิจที่มักจะต้องเผชิญกับน่านน้ำสีแดงหรือ Read Ocean เกือบจะ 100% ก็คือสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคหรือ สินค้า FMCG และสินค้าหรือบริการที่จับลูกค้าด้วยคำว่า Low Cost

ตัวอย่างเช่น สายการบินราคาถูก (Low-cost Airline), งานรับจ้างทำกราฟฟิคราคาถูก, งานแต่งภาพ, งานตัดต่อวิดีโอ, งานถ่ายภาพ, และงานรับจ้างทำเว็บไซต์ เป็นต้น

กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบบใด เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะกลายเป็น Red Ocean ในท้ายที่สุด แตกต่างกันเพียงแค่จะใช้เวลามากหรือน้อยในการกลายเป็น Red Ocean เท่านั้น

วิธีรับมือกับ Red Ocean Strategy

หลังจากรู้แล้วว่า Red Ocean คือ ตลาดที่มีการการแข่งขันดุเดือดที่ต่างฝ่ายต่างเสียเลือด วิธีรับมือเมื่อธุรกิจต้องเผชิญหน้ากับน่านน้ำสีเลือดหรือ Red Ocean จึงแบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่:

  1. การใช้เงินทุนที่มากกว่าเข้าสู้
  2. สร้างความแตกต่างให้สินค้า (Differentiation Strategy)
  3. ย้ายไปอุตสาหกรรมอื่น

กลยุทธ์การใช้เงินทุน

การใช้เงินทุนที่มากกว่าเข้าสู้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด (ใช้ความคิดน้อยที่สุด) สำหรับน่านน้ำสีแดงหรือ Red Ocean Strategy แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือจะต้องมั่นใจว่ามีเงินทุนมากกว่าคู่แข่งของคุณ และจะยิ่งง่ายถ้าคู่แข่งของคุณมีอยู่ไม่มาก

วิธีนี้จะเป็นการยอมลดราคาลงเพื่อต่อสู่กับคู่แข่งโดยอาจจะทำให้กำไรต่อหน่วยลงเล็กน้อย ถ้าหากว่าคู่แข่งมีเงินทุนไม่มากพอในระยะยาวคู่แข่งจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ ยอมกลับมาขายราคาปกติ (เลิกตัดราคา) และขาดทุนจนปิดกิจการไปเอง ทำให้ไม่มีคู่แข่งมาตัดราคาอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่าการใช้วิธีนี้ต้องแน่ใจว่าคู่แข่งเงินทุนน้อยกว่าคุณจริง หากคู่แข่งแข็งแรงกว่าคุณคุณจะเป็นฝ่ายเดือดร้อนเองในท้ายที่สุด

สร้างความแตกต่าง

เป็นกลยุทธ์ที่ใช้การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ให้กับสินค้าเดิมที่ขายให้ลูกค้ากลุ่มเดิม เพื่อทำให้สงครามราคา (Price War) มีผลกับธุรกิจน้อยลง

เมื่อสาเหตุจของสงครามราคา (Price War) ที่ทำให้เกิด Red Ocean คือการที่สินค้าเป็นสินค้าที่เหมือนกันจนทำให้ลูกค้าใช้สินค้าอีกชนิดก็จะรู้สึกแตกต่างกันไม่มาก (หรือไม่รู้สึกเลย) ส่งผลให้ราคากลายเป็นส่วนที่มีผลสำคัญกับการขายสินค้าเหล่านี้

ดังนั้น การสร้างความแตกต่างของสินค้าในเรื่องของการใช้งาน (Functional) หรือด้านความรู้สึก (Emotional) จะช่วยให้ขายสินค้าในราคาที่แพงขึ้นได้ตามมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ที่สร้างขึ้นมา ในลักษณะที่แบรนด์ A กับ B สินค้าคล้ายกันราคาเท่ากัน แต่แบรนด์ A มีบางอย่างที่ต่างหรือมากกว่าแบรนด์ A

ย้ายไปอุตสาหกรรมอื่น

การย้ายไปอุตสาหกรรมตามกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม หรือ Blue Ocean Strategy เป็นการหนีจาก Red Ocean ที่ต่างฝ่ายต่างตัดราคากันอย่างดุเดือดไปยังตลาดอื่นที่ยังไม่มีการแข่งขันกันดุเดือด เป็นวิธีรับมือกับ Red Ocean ที่ได้รับความนิยมที่สุด

สามารถทำได้ด้วยการมองหาลูกค้ากลุ่มใหม่เพื่อขายสินค้าที่มีอยู่ โดยอาจจะปรับปรุงสินค้าที่มีอยู่หรือ Rebranding เล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับลูกค้ากลุ่มใหม่

ตัวอย่างเช่น Bloomberg ที่ทำสำนักข่าวเกี่ยวกับการเงินการลงทุนแห่งแรกในปี 1981 แทนที่จะเป็นสำนักข่าวธรรมดาที่ต้องคอยหาข่าวรีบลงข่าวเหมือนกับสำนักข่าวทั่วไป และการย้ายจากการขายสินค้าให้ผู้บริโภค (B2C) เป็นขายให้กับธุรกิจด้วยกัน (B2B)

ทั้งนี้ ตามที่ได้อธิบายในตอนต้นว่าเมื่อเวลาผ่านไปทุกธุรกิจจะกลายเป็นน Red Ocean (น่านน้ำสีแดง) จากเดิมที่ Bloomberg เป็นเจ้าแรกที่หันมาจับเรื่องการเงินการลงทุน แต่เมื่อคนเริ่มเห็นแล้วว่าธุรกิจนี้ทำกำไรได้ก็มีหลายสำนักข่าวเริ่มทำตามอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

บทความที่เกี่ยวข้อง