GreedisGoods » Economics » Reflation คืออะไร? เกิดจากอะไรและอะไรจะตามมา

Reflation คืออะไร? เกิดจากอะไรและอะไรจะตามมา

by Kris Piroj
Reflation คือ ภาวะ Reflation กับ Inflation

Reflation คืออะไร?

Reflation คือ ภาวะที่ตัวเลขเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ช่วงก่อนหน้าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย โดย Reflation เป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหรือธนาคารกลางเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่าย

ภาวะ Reflation เป็นระยะแรกที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว (เงินเฟ้อเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น) หลังจากที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย (Recession) หรือในอีกความหมาย Reflation ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจาก Deflation หรือภาวะเงินฝืดในช่วงก่อนหน้านั่นเอง

เมื่อสภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และนำไปสู่เงินเฟ้อ (Inflation) ที่กลับมาเพิ่มขึ้นตามการจับจ่ายใช้สอย

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่าง Inflation หรือเงินเฟ้อในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติกับ Reflation คือ การที่ภาวะ Reflation จะเป็นการกลับมาเติบโตผ่านการกระตุ้นด้วยมาตรการต่าง ๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้อยู่ในช่วงภาวะเงินฝืด (Deflation)

ในขณะที่ Inflation หรือภาวะเงินเฟ้อตามปกติจะเกิดขึ้นตามกลไกปกติเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตจนทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

กล่าวคือ ภาวะ Reflation มีความหมายตามชื่อที่มาจากคำว่า Re (กลับมา/เริ่มต้นอีกครั้ง) + Inflation (เงินเฟ้อ) ซึ่งหมายความการที่เงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง โดยที่มาของเงินเฟ้อที่กลับมาอีกครั้งมาจากมาตรการของธนาคารกลาง อย่างเช่น การทำ QE ที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้เกิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เพื่อทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะ Reflation

สาเหตุของ Reflation

กลไกในการกระตุ้นให้เกิดภาวะ Reflation คือการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นและลงทุนมากขึ้น เพื่อที่ทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและนำไปสู่ตัวเลขเงินเฟ้อ (Inflation) ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยวิธีที่ทำให้เกิด Reflation ที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่

  1. การลดภาษี เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ
  2. การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดต้นทุนในการกู้ยืมของธุรกิจ
  3. การเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบด้วยการทำ Quantitative Easing หรือ QE
  4. การลงทุนในโปรเจคขนาดใหญ่ของรัฐ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและกระตุ้นเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

จะเห็นว่าโดยสรุปวิธีที่ทำให้เกิด Reflation ได้ก็คือการกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนและภาคธุรกิจนั่นเอง

นอกจากนี้ Reflation ยังใช้ในการเรียกนโยบายการเงิน (Monetary Policy) สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอยู่ในภาวะเงินฝืด (Deflation) เพื่อทำให้ฟื้นกลับมาเป็นขาขึ้นและเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

อย่างที่ได้อธิบายว่า Reflation คือภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นด้วยการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยมาตรการ Quantitative Easing (QE) ซึ่งเป็นการอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ของธนาคารกลาง

เมื่อมีเงินปริมาณมหาศาลเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ Bond Yield ลดลง (เพราะถูกธนาคารกลางเข้าซื้อผ่านการทำ QE) ก็จะทำให้ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นตาม จะเห็นว่าการทำ Unlimited QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2020 ในช่วงวิกฤติโควิดส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

  • ราคา Bitcoin เพิ่มขึ้นจาก $5,000 เป็น $50,000
  • S&P 500 Index เพิ่มขึ้นจาก 2,500 เป็น 3,900 จุด
  • NASDAQ เพิ่มขึ้นจาก 7,000 เป็น 14,000 จุด
  • Dow Jones Index เพิ่มขึ้นจาก 20,000 เป็น 32,000 จุด
  • ราคาทองคำทำจุดสูงสุดใหม่ที่ประมาณ $2,000 ต่อออนซ์

จะเห็นว่าราคาของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบเพื่อทำให้เกิดการใช้จ่ายและกระตุ้นเงินเฟ้อกลับมา

เมื่อถึงจุดที่ระดับเงินเฟ้อถึงเป้าหมายและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สิ่งที่ธนาคารกลางจะทำต่อไปคือสิ่งที่เป็นด้านตรงข้ามเพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่สูงจนเกินไป ซึ่งก็คือการหยุดอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และค่อย ๆ ดึงเงินที่เคยใส่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา

ดังนั้น สภาพคล่องที่เคยเพิ่มเข้ามาจะค่อย ๆ หายไป นั่นหมายความว่าราคาของสินทรัพย์เสี่ยงเองก็จะค่อย ๆ ลดลงตามเงินที่ถูกธนาคารกลางดึงออกไป เมื่อถึงตอนนั้นสินทรัพย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นเพียงเพราะเงินมหาศาลจากการอัดฉีดไหลเข้าไป ในขณะที่มูลค่าของสินทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในระดับราคาที่สมเหตุสมผลก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด