GreedisGoods » International Business » Regiocentric คืออะไร? ในธุรกิจระหว่างประเทศ

Regiocentric คืออะไร? ในธุรกิจระหว่างประเทศ

by Kris Piroj
Regiocentric คือ กลยุทธ์ การบริหาร บริษัทข้ามชาติ

Regiocentric คือ รูปแบบการบริหารบรรษัทข้ามชาติโดยกระจายอำนาจตัดสินใจและการจัดหากำลังคนโดยแบ่งเป็นภูมิภาค เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่คล้ายกันในแต่ละภูมิภาค เนื่องจาก กลยุทธ์ Regiocentric เชื่อว่าประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันมักจะมีวัฒนธรรมและแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน

การแบ่งภูมิภาค (Region) ของการบริหารบริษัทข้ามชาติด้วย นโยบาย Regiocentric มักจะแบ่งภูมิภาคจากทวีป หรือกลุ่มประเทศที่ย่อยมาจากทวีปอย่างประเทศในกลุ่ม AEC และ SEA (South East Asia) โดยจะพิจารณาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใกล้เคียงกันเป็นหลัก

อธิบายให้ง่ายกว่านั้น นโยบาย Regiocentric คือ นโยบายสำหรับการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่การตัดสินใจและนโยบายต่าง ๆ ในการบริหารของบริษัทลูกในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันจะเหมือนหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เนื่องจาก กลยุทธ์ Regioncentric คือ แนวคิดที่มองว่าประเทศใกล้เคียงกันมีวัฒนธรรม แนวคิด และวิธีดำเนินธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน (อย่างเช่น ประเทศไทยกับประเทศรอบข้าง) จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้การแบ่งการบริหารเป็นรายประเทศแบบ Polycentric และสามารถใช้ผู้บริหารจากประเทศในกลุ่มเดียวกันได้

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคในที่นี้อาจเป็นได้มากกว่าทวีป หรือกลุ่มประเทศที่มีอยู่แล้ว แต่อาจรวมถึงการแบ่งโซนที่ธุรกิจแบ่งขึ้นมาเอง เมื่อสำรวจแล้วว่าการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวใกล้เคียงกัน

Regiocentric HRM

ในด้านของการบริหารทรัพยากรมนุษย์แบบ Regiocentric จะใช้ผู้บริหารระดับสูงที่มาจากประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ ส่วนผู้บริหารระดับกลางและระดับล่างมักจะหาจากประเทศลูก (Host Country) ที่บริษัทสาขาตั้งสำนักงานอยู่

ตัวอย่างเช่น บริษัทสัญชาติไทยที่มีบริษัทลูกในประเทศลาว อาจใช้ผู้บริหารที่มาจากประเทศเวียดนามบริหารสาขาประเทศลาว แต่ผู้บริหารระดับกลางและระดับล่างจะใช้คนจากประเทศลาว

ข้อดีของ Regiocentric ในเรื่องของการใช้ผู้บริหารจากภูมิภาคเดียวกัน (Region) คล้ายกับการใช้นโยบายแบบ Geocentric คือการที่ผู้บริหารเข้าใจเรื่องที่อยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว (อย่างน้อยที่สุดคือเข้าใจในระดับหนึ่ง) เนื่องจากผู้บริหารเป็นคนจากภูมิภาคนั้นอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นโยบาย Regiocentric ยังมีข้อได้เปรียบจากเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ผู้บริหารไม่ต้องปรับตัวเหมือนกับการใช้ นโยบาย Ethnocentric เนื่องจากในแต่ละภูมิภาคมีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจึงไม่ค่อยเป็นปัญหาสำหรับผู้บริหารที่ต้องย้ายเข้าไปบริหารบริษัทลูกและการทำความคุ้นเคยพฤติกรรมการทำงาน

นอกจากนี้ ถ้าหากเทียบ Regiocentric กับ Geocentric จะเห็นว่าเป็นรูปแบบนโยบายในการบริหารบริษัทข้ามชาติที่ใกล้เคียงกัน โดยนโยบายแบบ Regiocentric จะลดขนาดเหลือภูมิภาค (Region) จากทั่วโลก (Global)

กลยุทธ์ข้ามชาติรูปแบบอื่นๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด