GreedisGoods » International Business » Reshoring คืออะไร? ทำไมบรรษัทข้ามชาติเลือกที่จะกลับ

Reshoring คืออะไร? ทำไมบรรษัทข้ามชาติเลือกที่จะกลับ

by Kris Piroj
Reshoring คือ การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ Offshore ธุรกิจระหว่างประเทศ Reshoring

Reshoring คืออะไร?

Reshoring คือ การที่บรรษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตสินค้าและบริการที่เคยออกไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ (Offshoring) กลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศแม่ของบรรษัทดังกล่าว เนื่องจากต้นทุนการผลิตในต่างประเทศสูงขึ้นหรือไม่ได้สร้างความได้เปรียบอีกต่อไป

การ Reshoring เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ต้นทุนในประเทศลูก (Host Country) ที่บรรษัทข้ามชาติได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และมีข้อกำหนดกฎระเบียบที่ทำให้ความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เพราะเดิมทีบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ออกไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าในขณะที่ความเชี่ยวชาญในการผลิตไม่ต่างกันมาก (หรือแม้กระทั่งดีกว่า) ดังนั้นแล้วเมื่อต้นทุนของต่างประเทศที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตสูงกว่า การ Reshoring กลับสู่ประเทศแม่เพื่อตัดต้นทุนที่เกิดจากฐานการผลิตในต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

นอกจากนี้ Reshoring ยังอาจถูกเรียกในชื่อ Inshoring, Onshoring, และ Backshoring

กล่าวคือ Reshoring คือ การกลับมาผลิตที่ประเทศแม่ของบริษัทเหล่านั้นอีกครั้ง (กลับบ้าน) ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามของการ Offshoring ที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนหน้านี้ที่นิยมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า

ตัวอย่างเช่น การที่ในปี 2555 General Electric ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อย้ายฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับมาจากจีนและจากสาขา Offshore อื่น ๆ

สาเหตุที่นำไปสู่ Reshoring

แม้ว่าการ Reshoring คือสิ่งที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท แต่สาเหตุหลักที่นำไปสู่การ Reshoring ที่สำคัญมีอยู่ 2 ประเด็น คือ ประเด็นด้านการเมืองที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการที่ต้นทุนการผลิตในประเทศ Offshore สูงขึ้น

การ Reshoring จากสาเหตุด้านต้นทุน: การออกไปผลิตในประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าสามารถประหยัดเงินได้ในระยะสั้น ณ ช่วงเวลาที่ประเทศเหล่านั้นยังมีระดับค่าแรงที่ต่ำอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนประเทศที่เข้าไปลงทุนเติบโตจนมีต้นทุนแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นสามารถจะทำให้การ Offshoring ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป การ Reshoring จึงเป็นทางออกในการลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรด้วยการนำฐานการผลิตกลับสู่ประเทศแม่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง

การ Reshoring เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ: การตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศไม่ว่าประเทศใดจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ Offshore เหล่านั้น เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองที่ขัดแย้งกันอย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับจีนและสหรัฐฯ ความเสี่ยงที่ตามมาคือความมั่นคงของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติที่อาจเพิ่มขึ้นจากทั้งกำแพงภาษีและกำแพงที่ไม่ใช่ภาษี

นอกจากนี้ ประเด็นอื่น ๆ ที่ทำให้บรรษัทข้ามชาติตัดสินใจในการ Reshoring ยังอาจรวมไปถึง:

  • การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการที่ทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทรั่วไหลในการดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศที่หันมาแข่งขันในธุรกิจแบบเดียวกัน
  • ปัญหาความเสี่ยงด้จากการหยุดชะงักของโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ในประเทศที่เข้าไปตั้งฐานการผลิต
  • การเข้าถึงแรงงานในระดับฝีมือที่ต้องการทำได้ยากขึ้น

ข้อเสียเปรียบของการ Reshoring

แม้ว่า Reshoring จะเป็นการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นตามที่อธิบายข้างต้น แต่ในทางปฏิบัติการ Reshoring ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายและตรงไปตรงมา เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตกลับจำเป็นที่จะต้องต้องมีการลงทุนจำนวนมากในโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น ความพร้อมด้านเทคโนโลยี รวมถึงการหาและฝึกอบรมพนักงาน

ทำให้การตัดสินใจที่จะ Reshoring บรรษัทข้ามชาติจึงต้องชั่งน้ำหนักถึงข้อดีและข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ โดยในเบื้องต้นการ Reshoring จะต้องเผชิญกับปัญหา ดังนี้:

ต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น: การย้ายถิ่นฐานใหม่มักหมายถึงต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการผลิต Offshoring โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศบ้านเกิดมีค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าหรือมีกฎระเบียบด้านแรงงานที่เข้มงวดกว่า

ต้นทุนทางการเงิน: การ Reshoring ต้องการการลงทุนจำนวนมากในการสร้างโรงงานผลิตขึ้นมาใหม่ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการผลิตต่าง ๆ

ปัญหาด้านความเชี่ยวชาญ: ในบางกรณีเหตุผลของการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศมาจากการเข้าไปใช้ความเชี่ยวชาญของแรงงานในประเทศนั้น ๆ การที่ Reshoring กลับมา บริษัทอาจไม่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในระดับเดียวกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านคุณภาพหรือความล่าช้าได้

ปัญหาตัวเลือกซัพพลายเออร์ที่จำกัด: เนื่องจากการกลับสู่ประเทศแม่อาจทำให้ฐานการผลิตอยู่ไกลจาดซัพพลายเออร์เดิม ส่งผลให้ตัวเลือกซัพพลายเออร์ที่มีลดลง

การตอบโต้ทางการค้า: บางครั้งการ Reshoring สามารถถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้าจากประเทศที่บริษํทกลับไปตั้งฐานการผลิต ซึ่งอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศจากประเทศที่ได้ย้ายฐานการผลิตออกมา อย่างเช่น การตั้งกำแพงภาษี และการห้ามนำเข้าสินค้า

บทความที่เกี่ยวข้อง