Reverse Culture Shock คือ อาการ Culture Shock ย้อนกลับที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ย้ายไปอยู่ต่างวัฒนธรรมกลับมายังวัฒนธรรมเดิม โดย Reverse Culture Shock จะเกิดขึ้นเมื่อสามารถปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ได้แล้ว ทำให้เมื่อกลับมาประเทศบ้านเกิดกลับไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมของประเทศบ้านเกิด
อาการ Reverse Culture Shock คืออาการที่ตามมาหลังจากคุ้นเคยและปรับตัวเข้ากันได้กับวัฒธรรมแบบใหม่ โดยเฉพาะกับผู้ที่ชอบวัฒนธรรมแบบใหม่มากกว่าวัฒนธรรมเดิมของตนหลังจากที่ปรับตัวได้
โดยอาการ Reverse Culture Shock มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องย้ายจากประเทศแม่ออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นเวลานาน อย่างเช่น การไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และการถูกส่งไปประจำในบริษัทสาขาต่างประเทศในฐานะ Expatriate (และ Repat กลับมาภายหลัง)
นอกจากที่ผู้มีอาการ Reverse Culture Shock จะรับวัฒนธรรมของประเทศตัวเองหลังจากกลับมาไม่ได้ Reverse Culture Shock ยังรวมไปถึงอาการคิดถึงชีวิตในต่างประเทศ เนื่องจากที่นั่นคุณภาพชีวิตดีกว่า
ตัวอย่าง Reverse Culture Shock
ตัวอย่างที่พบได้บ่อย เช่น การเดินทางได้ง่ายและสบายกว่าโดยที่ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว มีกิจกรรมให้ทำอย่างหลากหลาย ความปลอดภัยในชีวิตที่มากกว่า ไปจนถึงอาหารที่ถูกปากมากกว่าอาหารของประเทศตน
แต่สำหรับ Reverse Culture Shock ที่พบได้บ่อยกับคนไทยหลังจากได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วก็คือ การที่กลับมาแล้วพบว่าเรื่องอะไรที่เมื่อก่อนรู้สึกเฉยๆ กลายเป็นดูจะขัดใจไปหมด ตัวอย่างเช่น
ไปอยู่ในประเทศที่ตรงเวลา เมื่อกลับมาไทยเจอความไม่ตรงเวลาของคนไทยแล้วรับไม่ได้
ไปทำงานในประเทศที่ทุกคนเท่ากันหมด ไม่มีระบบอาวุโส แต่เมื่อกลับมาไทยก็ต้องมาเจอกับระบบอาวุโสอีกครั้ง
คุณภาพชีวิตที่ได้รับจากโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางสาธารณะที่สะดวก ไปจนถึงการข้ามถนนที่สามารถข้ามได้จริง
สรุปให้ง่ายกว่านั้น Reverse Culture Shock คืออาการที่กลับมาประเทศตัวเองแล้วรับไม่ได้กับวัฒนธรรมเดิมของประเทศตัวเอง เนื่องจากคุ้นเคยกับวัฒนธรรมใหม่ไปแล้ว
วิธีรับมือ อาการ Reverse Culture Shock
สำหรับวิธีการแก้ไขอาการ Reverse Culture Shock จะคล้ายกับอาการ Culture Shock คือ พยายามเปิดใจรับวัฒนธรรมของประเทศตัวเองอีกครั้ง และพยายามปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมประเทศตัวเองอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายในกรณีที่ไม่สามารถแก้ Reverse Culture Shock ได้จนทำให้ไม่สามารถกลับมาอยู่ในประเทศนี้ได้อีกเลย ก็อาจจำเป็นที่จะต้องย้ายไปอยู่ในประเทศนั้นแทน
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก (แต่ก็ไม่ง่าย) สำหรับผู้ที่มีอาการ Reverse Culture Shock ในช่วงที่ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทขึ้นไปในต่างประเทศ
ในเบื้องต้น สำหรับใครที่กังวลว่าจะมีอาการ Reverse Culture Shock เมื่อกลับมายังประเทศตนเอง ถ้าหากว่ามีกำลังทรัพย์มากพออาจลองกลับมายังประเทศของตนชั่วคราวบ้าง (อย่างเช่น ช่วงปิดเทอม) เพื่อลองใช้ชีวิตในวัฒนธรรมแบบเดิม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Culture Shock แบบละเอียดได้จากบทความ Culture Shock คืออะไร? และวิธีรับมือ