GreedisGoods » Finance » ROA คืออะไร? ค่า Return on Asset บอกอะไร

ROA คืออะไร? ค่า Return on Asset บอกอะไร

by Kris Piroj
ROA คือ Return on Assets คือ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ ROA หุ้น คือ

ROA คืออะไร?

ROA คือ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่างกำไรสุทธิกับสินทรัพย์รวมบริษัท เพื่อใช้ในการวัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเมื่อเทียบกับจำนวนสินทรัพย์ที่มีอยู่ ซึ่งค่า ROA ของหุ้นจะแสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้กี่เปอร์เซ็นต์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่

โดยค่าที่ได้จาก Return on Asset หรือ ROA เป็นตัวเลขที่บอกว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้กี่เปอร์เซ็นต์จากสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ หรือทุกสินทรัพย์ 100 บาทของบริษัท บริษัทสามารถเปลี่ยนเป็นกำไรให้บริษัทได้กี่บาท ตามชื่อ Return on Asset หรือผลตอบแทนจากสินทรัพย์

ในการวิเคราะห์งบการเงินด้วยค่า ROA หรือ Return on Asset จะนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่า ROA ของบริษัทอื่นที่อยู่ในอัตสาหกรรมเดียวกัน, ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม, หรือค่า ROA ของบริษัทในอดีต เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรของบริษัทว่าอยู่ในระดับปกติ แย่กว่า หรือดีกว่า

แต่จะไม่ใช้ค่า ROA ที่ได้ไปเปรียบเทียบกับธุรกิจที่ต่างกัน เนื่องจากในแต่ละธุรกิจมีพฤติกรรมการใช้สินทรัพย์ที่ต่างกันไม่มากก็น้อย ในธุรกิจอย่างด้านเทคโนโลยีจะมีการใช้สินทรัพย์ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งส่งผลให้ค่า ROA ในธุรกิจด้านเทคโนโลยีสูงกว่า

วิธีหาค่า ROA

การคำนวณ ROA คือ การนำกำไรสุทธิ (Net Profit) หารด้วยสินทรัพย์รวม (Total Asset) และนำไปคูณ 100 เพื่อแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์ (ถ้าหากไม่คูณ 100 จะมีหน่วยเป็นเท่า) ที่แสดงให้เห็นว่าบริษัททำกำไรได้กี่เปอร์เซ็นต์จากสินทรัพย์ที่มี

Return on Asset หรือ ROA = (กำไรสุทธิ ÷ สินทรัพย์รวม) x 100%

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ หรือ Return on Asset (ROA) ที่คำนวณออกมาได้ควรมีค่าเป็นบวก และยิ่งเป็นค่ามากยิ่งดี ซึ่งเราจะนำค่า ROA ที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่า ROA ของบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

โดยในเบื้องต้น Return on Asset หรือ ROA ที่ได้สามารถแปลผลได้ดังนี้:

ROA สูง คือ การที่กิจการมีความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่สูง หรือก็คือกิจการสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีไปเป็นกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ข้อควรระวังของธุรกิจที่ ROA สูงมากคือการที่เป็นธุรกิจที่คู่แข่งหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้ง่ายเนื่องจากเป็นที่ใช้การลงทุนเริ่มต้นในส่วนของสินทรัพย์ไม่มาก

ROA ต่ำ คือ การที่กิจการไม่สามารถใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้ได้ไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ROA ของหุ้นบริษัทจดทะเบียน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องคำนวณ ROA ของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสมอไป เพราะสามารถดูค่า ROA หรือ Return on Asset ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สนใจได้จากเว็บไซต์ SET.or.th ในส่วนของข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์

แล้วเลือกไปที่ “งบการเงิน/ผลประกอบการ” โดยค่า ROA จะอยู่ในส่วนของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (อยู่ด้านบนค่า ROE)

ROA คือ ค่า ROA หุ้น Return on Asset หุ้น

ตัวอย่าง ROA ของหุ้น

ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 1,000,000 บาท และบริษัทมีกำไรสุทธิในปีนี้ 4,000 บาท โดยอุตสาหกรรมที่บริษัท A ประกอบธุรกิจมี ค่าเฉลี่ย ROA คือ 16%

ค่า Return on Asset หรือ ROA = (4000 ÷ 1000000) x 100%

ดังนั้น ROA ของบริษัท A จะมีค่าเท่ากับ 0.4% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ หมายความว่าบริษัท A ไม่สามารถใช้สินทรัพย์ที่มีเปลี่ยนเป็นกำไรได้เกิดประโยชน์สูงสุด (หรือแย่กว่า) เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

หรืออธิบายให้เห็นภาพกว่านั้น ROA 0.4% เหมือนกับลงทุนเปิดร้านไป 1 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะไม่ขาดทุน แต่ก็ทำกำไรได้แค่ 4,000 บาท

อย่างไรก็ตามค่า ROA หรือ Return on Asset อาจมีความคลาดเคลื่อนในบางธุรกิจ เพราะบางธุรกิจเป็นธุรกิจที่ใช้สินทรัพย์น้อย ทำให้เมื่อคำนวณออกแล้วได้ค่า ROA ออกมาสูงอยู่แล้ว ทำให้ตัวเลขออกมามากเกินจริง ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบริการบางประเภท

ดังนั้น ในการดูอัตราส่วนทางการเงินทั้ง ROA หรืออัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนทางการเงินใดก็ตาม ก็ควรที่จะดูตัวเลขอื่นที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง