ROE คืออะไร?
ROE คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างกำไรสุทธิกับส่วนของผู้ถือหุ้น ROE หรือ Return on Equity เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้บอกว่าบริษัทมีกำไรสุทธิเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เทียบกับเงินทุนของบริษัท
โดยค่า ROE หรือ Return on Equity เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่นักลงทุนนิยมนำมาใช้ประเมินผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจากส่วนของผู้ถือหุ้น เนื่องจากค่า ROE หมายถึง กำไรสุทธิเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น
กล่าวคือ ROE คือสิ่งที่บอกว่าบริษัทมีความสามารถในการสร้างกำไรสุทธิได้กี่บาทจากต้นทุนของนักลงทุนทุก 100 บาท และในทางกลับกันส่วนที่ไม่ใช่กำไรก็คือต้นทุนที่บริษัทได้ใช้ไปในการสร้างกำไรสุทธิ
ด้วยเหตุผลในลักษณะนี้ทำให้นักลงทุนหลายคนเชื่อว่าหุ้น ROE สูงกว่า คือ หุ้นที่ดีกว่า เพราะมองว่ามีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่าด้วยเงินลงทุนที่เท่ากัน จากความสามารถในการเปลี่ยนเงินทุนเป็นกำไรของกิจการที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักในการใช้ Return on Equity หรือ ROE (ตลอดจนอัตราส่วนทางการเงินใดก็ตาม) คือการที่ตัวเลขที่นำมาคำนวณเป็นค่า ROE เป็นตัวเลขจากงบแสดงฐานะการเงินที่เป็นเหตุการณ์ในอดีต ดังนั้น ROE ที่ได้จากการคำนวณคือเรื่องในอดีตเป็นเพียงแนวโน้มเพื่อในการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช่การทำนายอนาคตจากการที่ผลการดำเนินในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไป
สูตร ROE
การคำนวณ Return on Equity หรือ ROE เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างกำไรสุทธิ (Net Profit) กับส่วนของผู้ถือหุ้น (Owner’s Equity) และแปลงออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ (Percent) โดยสามารถเขียนเป็นสมการสูตร ROE ดังนี้
ROE = (กำไรสุทธิ ÷ ส่วนของเจ้าของ) x 100%
โดยค่า ROE ที่คำนวณออกมาจะมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ และค่า ROE ที่ดีกว่าควรมีค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับอัตราส่วน ROE ของบริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกันหรือเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ROE สูง คือ สิ่งที่เกิดจากการที่บริษัทมีสัดส่วนกำไรสุทธิมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น หรือในอีกความหมายคือบริษัทสามารถสร้างผลตอบแทน (กำไร) ได้สูงเมื่อเทียบกับส่วนของเจ้าของที่มีอยู่
ROE ต่ำ คือ การที่บริษัทมีกำไรสุทธิต่ำกว่า (หรือไม่สูงมากนัก) เมื่อเทียบกับส่วนของเจ้าของที่มีอยู่ ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนได้ต่ำเมื่อเทียบกับส่วนของเจ้าของที่ธุรกิจมีอยู่
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่าง ๆ รวมถึงตลาดหุ้นไทยอาจไม่จำเป็นที่จะต้องคำนวณ ROE ด้วยตัวเอง เพราะนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถดู ค่า ROE ของบริษัททุกบริษัทได้ที่หน้าข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์ในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ

กับดัก ROE สูงที่ควรระวัง
ค่า ROE ที่สูงบางครั้งก็อาจจะไม่ได้มาจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ทำให้ถ้าหากถามว่าหุ้น ROE สูงดีหรือไม่ อาจจะตอบได้ไม่เต็มปากว่าดี ซึ่งต้องพิจารณาเพิ่มเติมต่ออีกว่าสิ่งที่ทำให้ ROE สูง คือ ความสามารถในการทำกำไรจากต้นทุน (ส่วนของเจ้าของ) ที่มีอยู่จริงหรือไม่
เพราะในบางกรณี ROE ที่สูงอาจมาจากการที่บริษัทมีจำนวนส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่น้อย (ตัวหารน้อยค่า ROE เลยออกมาสูง) หรือบริษัทกู้เงินมาเพิ่มเพื่อเพิ่มกำไรจนทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิสูง ซึ่งส่งผลให้ ROE เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าทำไม อย่างที่เห็นว่าวิธีหาอัตราส่วน Return on Equity หรือ ROE เกี่ยวกับตัวเลข 2 ตัว คือ กำไรสุทธิ หารด้วย ส่วนของเจ้าของ กล่าวคือโจทย์ในการทำให้ค่า ROE สูงในทางคณิตศาสตร์สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่
- ลดตัวหาร หรือ การลดส่วนของเจ้าของ
- เพิ่มตัวตั้ง หรือ การเพิ่มกำไรสุทธิ
วิธีที่ 1 การลดตัวหาร หรือ การลดส่วนของเจ้าของ สามารถทำได้ด้วยการซื้อหุ้นคืนหรือการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง เพื่อทำให้ส่วนของเจ้าของไม่เพิ่มขึ้นมากจากกำไรสะสม (Retained Earnings) ที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งวิธีนี้มักจะไม่ใช่ปัญหาเพราะชัดเจนว่าบริษัทสามารถทำกำไรได้
วิธีที่ 2 ที่ทำให้ ROE สูงและเป็นปัญหาคือการเพิ่มตัวตั้ง หรือ การเพิ่มกำไรสุทธิ ที่สามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เป็นปัญหาคือ “การสร้างหนี้เพิ่ม” เพื่อเพิ่มยอดขาย
ตัวอย่างเช่น บริษัท GreedisGoods กู้เงิน 1 ล้านบาทด้วยดอกเบี้ย 8% เพื่อซื้อสินค้ามาขาย แต่บริษัททำกำไรจากการขายได้ 50,000 บาท (กำไร 0.5% จากต้นทุน) เรียกได้ว่าเป็นกำไรที่ต่ำมากและไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ย แต่เพราะค่า ROE คือ อัตราส่วนที่คำนวณมาจาก กำไรสุทธิ ÷ ส่วนของเจ้าของ ทำให้ต่อให้บริษัทกู้เงินมาในระดับที่บริษัทจ่ายคืนไม่ไหว ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเลข ROE แย่ลงได้ (ในทางกลับกันกำไรสุทธิที่เพิ่มยิ่งทำให้ค่า ROE สูง) ซึ่งในส่วนนี้เองที่เรียกได้ว่าเป็น “กับดัก ROE”