Rule of 72 คืออะไร?
Rule of 72 คือ สูตรการคำนวณทางการเงินเพื่อใช้ในการหาว่าจะต้องนำเงินต้นไปลงทุนเป็นระยะเวลากี่ปีจึงจะสามารถทำให้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งการคำนวณตามสูตร Rule of 72 ทำได้ด้วยการนำ 72 ไปหารด้วยอัตราดอกเบี้ยต่อปีที่ได้รับจากการลงทุน
นอกจากนี้ ในอีกกรณีคือการใช้ Rule of 72 เพื่อหาว่าถ้าหากต้องการให้เงินลงทุนเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลาที่ต้องการ จะต้องลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนเท่าไหร่ต่อปี
ในทางกลับกัน Rule of 72 ยังสามารถนำไปใช้ในการคำนวณในกรณีของหนี้ เพื่อใช้ในการคำนวณหาว่าจะต้องใช้ระยะเวลากี่ปีจึงจะสามารถทำให้หนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากผลของดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับการวางแผนการเงินในระยะยาวเพื่อการกู้เงิน
โดยสูตร The Rule of 72 จะมีวิธีใช้งานดังนี้:
- หาอัตราดอกเบี้ยที่ต้องการในการลงทุน = 72 / ระยะเวลา
- หาจำนวนปีในการลงทุนที่จะทำให้เงินเพิ่มเป็น 2 เท่า = 72 ÷ อัตราดอกเบี้ยต่อปี
อย่างไรก็ตาม The Rule of 72 ไม่ใช่วิธีที่แม่นยำที่สุดแต่อย่างใดในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) เมื่อเทียบกับการคำนวณด้วยโปรแกรมคำนวณหรือสูตรคำนวณที่ซับซ้อน แต่ประโยชน์หลักของ Rule of 72 คือใช้คำนวณแบบคร่าว ๆ เพื่อการประมาณการ
โดยที่มาของ Rule of 72 มีที่มาจากสมการในภาพด้านล่าง ซึ่งมีค่าประมาณ 72 ÷ r ที่เรากำลังอธิบายในบทความนี้

วิธีคำนวณ Rule of 72
การคำนวณตาม Rule of 72 เพื่อหาว่าเมื่อลงทุนกับการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องจะใช้ระยะเวลากี่ปีจึงจะทำให้เงินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ตัวอย่างเช่น
- ลงทุน 100,000 บาท โดยได้ดอกเบี้ย 6% ต่อปีจะต้องใช้เวลากี่ปีเงินลงทุนจะเพิ่มเป็น 2 เท่า
- กู้เงิน 100,000 บาทและค้างชำระหนี้โดยดอกเบี้ยเงินกู้คือ 6% ต่อปี จะต้องใช้ระยะเวลากี่ปียอดหนี้จะเพิ่มเป็น 2 เท่า
สามารถคำนวณได้โดยแทนค่าลงในสมการ: จำนวนปีในการลงทุนที่จะทำให้เงินเพิ่มเป็น 2 เท่า = 72 ÷ อัตราดอกเบี้ยต่อปี
จากตัวอย่างเมื่อแทนค่าลงไปในสมการจะได้เป็น จำนวนปีในการลงทุนที่จะทำให้เงินเพิ่มเป็น 2 เท่า = 72 ÷ 6 = 12 ปี
จากตัวอย่าง ถ้าหากลงทุนด้วยเงินต้นจำนวน 100,000 บาทและได้ดอกเบี้ย 6% ต่อปีจะต้องใช้เวลา 12 ปีจึงจะทำให้สามารถได้ผลตอบแทนเพิ่มเป็น 2 เท่า และในทางกลับกันถ้าหากไม่จ่ายหนี้ 100,000 บาทที่มีดอกเบี้ย 6% ต่อปี เมื่อผ่านไป 12 ปีหนี้จะกลายเป็น 200,000 บาท
Rule of 72 สำหรับหาดอกเบี้ย
นอกจากนี้ The Rule of 72 ยังสามารถใช้ในการหาว่าต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ต่อปี จึงจะสามารถทำให้เงินกลายเป็น 2 เท่าภายในระยะเวลาที่กำหนด
ตัวอย่างเช่น ถ้านำเงิน 1,000,000 บาทไปลงทุนให้เพิ่มเป็น 2 เท่า (หรือกลายเป็น 2 ล้านบาท) ให้ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี จะต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ต่อปี
โดยจะสามารถทำได้โดยแทนค่าลงในสมการ: อัตราดอกเบี้ยที่ต้องการในการลงทุน = 72 / ระยะเวลา
จากตัวอย่างด้านบนเมื่อแทนค่าลงในสมการ Rule of 72 จะได้ดังนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต้องการในการลงทุน = 72 / 5 = 14.4% ต่อปี
ดังนั้น จากตัวอย่างด้านจะต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 14.4% ต่อปี จึงจะสามารถทำให้ผลตอบแทนเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การคำนวณด้วยสูตร Rule of 72 ไม่ใช่การคำนวณที่ได้ผลที่แม่นยำเหมือนกับการคำนวณหาด้วยสูตร Future Value และ Present Value เพราะการคำนวณด้วย Rule of 72 ใช้สำหรับการคำนวณคร่าว ๆ เท่านั้น
จากตัวอย่างที่ 2 เมื่อนำค่าที่ได้แทนลงในสมการมูลค่าเงินตามเวลาเพื่อตรวจคำตอบจะได้เท่ากับ 1,000,000*(1+0.144)^5 = 1,959,431.66584 บาท ซึ่งคลาดเคลื่อนจากเป้าหมาย 2 ล้านบาท เพียงแค่ 3 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น