GreedisGoods » Economics » Search For Yield คืออะไร? เข้าใจพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน

Search For Yield คืออะไร? เข้าใจพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน

by Kris Piroj
Search for Yield คือ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน ของนักลงทุน Searching for Yield คืออะไร

พฤติกรรม Search for Yield เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการย้ายเงินลงทุนของนักลงทุน และเป็นสิ่งที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุน ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจกันว่า Search For Yield คืออะไร? และเกิดขึ้นได้อย่างไร

Key Points

  • Search for Yield คือ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าของนักลงทุน เป็นภาวะที่นักลงทุนจะแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำให้ผลตอบแทนลดลง
  • ในภาวะปกติที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงนักลงทุนจะลงทุนให้สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำจะส่งผลให้การลงทุนความเสี่ยงต่ำให้ผลตอบแทนที่สูงตาม
  • แต่เมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดลงจนการลงทุนความเสี่ยงต่ำให้ผลตอบแทนลดลง นักลงทุนก็จะหันไปลงทุนในการลงทุนที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อหาผลตอบแทนที่มากขึ้น

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน


Search for Yield คืออะไร?

Search for Yield คือ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าของนักลงทุน เป็นภาวะที่นักลงทุนจะแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเพื่อย้ายเงินเข้าไปลงทุน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของการลงทุนในการลงทุนที่ปลอดภัยอย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับที่ต่ำ

พฤติกรรม Search for Yield จะเกิดขึ้นเมื่อการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยกว่าให้ผลตอบแทนของการลงทุน (Yield) ลดลงจนทำให้การลงทุนดังกล่าวไม่สามารถชนะเงินเฟ้อที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลง

ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่การลงทุนบางอย่างให้ผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) ที่ติดลบ (ผลตอบแทนที่ได้รับต่ำกว่าเงินเฟ้อ) นักลงทุนก็จะมีพฤติกรรม Search for Yield ในการย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ให้ Real Yield ที่เป็นบวก

อธิบายให้ง่ายกว่านั้น Search for Yield คือการที่นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า เพื่อชดเชยผลตอบแทนของการลงทุนแบบเดิม เนื่องจากการลงทุนแบบเดิมให้ผลตอบแทนที่ลดลงนั่นเอง


กลไกของพฤติกรรม Search for Yield

ตามปกติในช่วงที่เศรษฐกิจดีเงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงเพื่อควบคุมไม่ให้มีสภาพคล่องในระบบมากเกินไปจนนำไปสู่เงินเฟ้อในระดับที่สูงเกินไป โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนนำเงินมากฝากเอาไว้

แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Easy Monetary Policy) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) จะอยู่ในระดับที่ต่ำ

เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ต่ำก็จะส่งผลต่อเนื่องการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่น การฝากเงิน และพันธบัตรรัฐบาลให้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำตามไปด้วย ผลตอบแทนที่ต่ำจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำส่งผลให้นักลงทุนหันไปลงทุนในการลงทุนที่ผลตอบแทนมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันหุ้นให้ปันผล 4% ต่อปี ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทน 3% ต่อปี ก็จะส่งผลให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำเลือกลงทุนในพันธบัตร และนักลงทุนที่รับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้อีกนิดจะเลือกลงทุนในหุ้นปันผล

แต่ถ้าหากใน 1 ปีข้างหน้า พันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนลดลงเหลือ 2.5% ในขณะที่หุ้นให้ปันผล 4% เท่าเดิม เมื่อช่องว่างของผลตอบแทนจากการลงทุนทั้ง 2 ชนิดกว้างขึ้น ก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนเลือกที่จะรับความเสี่ยงสูงขึ้นอีกระดับเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

ตามปกติพฤติกรรม Search for Yield จะทำให้นักลงทุนย้ายเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับถัดไปจากพันธบัตร นอกจากนี้ เราจะสามารถเรียงลำดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่นักลงทุนจะย้ายเงินลงทุนจากพฤติกรรม Search for Yield ได้ดังนี้

  1. ตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้)
  2. อสังหาริมทรัพย์
  3. สินค้าโภคภัณฑ์
  4. หุ้นในประเทศ
  5. หุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า
  6. Bitcoin และ Cryptocurrency อื่นๆ

ผลกระทบต่อ Real Sector

Search for Yield นอกจากส่งผลต่อพฤติกรรมการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุน แต่พฤติกรรม Searching for Yield ยังสามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึง Real Sector (ภาคธุรกิจจริง) ได้เช่นกัน

ผลกระทบหลักที่ภาคธุรกิจ Real Sector จะได้รับจาก Search for Yield คือการที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities Goods) เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินลงทุนที่ย้ายเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นใน ทองคำ น้ำมัน เหล็ก ทองแดง และสินค้าเกษตรอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแค่นักลงทุนมีพฤติกรรม Search for Yield แล้วเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์อื่น แล้วจะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ได้มากขนาดนั้น คำตอบคือนักลงทุนที่มีพฤติกรรม Search for Yield นั้นไม่ได้มีเพียงแค่นักลงทุนที่เป็นรายย่อย แต่ในตลาดยังมีผู้เล่นอื่นอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

  1. นักลงทุนที่กู้เงินมาลงทุน (Margin) ถ้ากู้มาด้วยดอกเบี้ย 1% ก็ต้องหาผลตอบแทนให้ได้มากกว่า 1%
  2. นักลงทุนสถาบัน (กองทุน) ที่ต้องหาผลตอบแทนมาชดเชยส่วนที่หายไป
  3. นักลงทุนทั่วไปที่ต้องการผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อ
  4. การลงทุนของประกัน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็ดบำนาญ และกองทุนของบริษัทประกันทั่วไป

ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพฤติกรรม Search for Yield จึงจำให้เกิดการไหลของเงินลงทุนมากพอที่จะทำให้ราคาสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกผลตอบแทนตราสารหนี้แบบละเอียดได้ที่บทความ: Bond Yield คืออะไร?

บทความที่เกี่ยวข้อง