ต้นทุนกึ่งผันแปร คืออะไร?
ต้นทุนกึ่งผันแปร คือ ต้นทุนที่หากไม่มีการผลิตจะเกิดต้นทุนคงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อผลิตหรือใช้งานจนถึงจุดหนึ่งต้นทุนคงที่ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น ต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi-variable Costs) จึงเป็นต้นทุนมีส่วนผสมระหว่างต้นทุนผันแปร (Variable Costs) และต้นทุนคงที่ (Fixed Costs)
กล่าวคือ ต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi-variable Costs) เป็นต้นทุนที่ส่วนประกอบที่เป็นต้นทุนคงที่จะไม่เปลี่ยนไป ในขณะที่ส่วนประกอบที่เป็นต้นทุนผันแปรจะเพิ่มขึ้นเมื่อการผลิตเพิ่มขึ้น
ความสัมพันธ์ของต้นทุนรวมที่เกิดขึ้นจากต้นทุนกึ่งผันแปร ซึ่งเกิดจากทั้งต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) และต้นทุนผันแปร (Variable Costs) สามารถอธิบายได้จากสูตรสมการเชิงเส้น: Y = a + bX
โดยที่แต่ละตัวแปรมีความหมายดังนี้:
- Y = ต้นทุนรวม
- a = ต้นทุนคงที่รวม
- b = ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย
- X = จำนวนหน่วยการผลิต
ต้นทุนกึ่งผันแปรรู้จักกันในอีกชื่อคือ “ต้นทุนกึ่งคงที่ (Semi-fixed Costs)”
ตัวอย่างต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi-variable Costs)
ตัวอย่างเช่น แพคเกจ Internet มือถือรายเดือนที่สมมติว่าราคาเดือนละ 500 บาท ที่สามารถใช้ Internet ได้ 100 Gigabyte และโทรฟรี 250 ชั่วโมง ถ้าหากว่าใช้ Internet และโทรเกินจากนั้นจะมีค่าบริการเพิ่มเติม 10 บาทต่อ Internet 1 Gigabyte และ 0.5 บาทต่อการโทร 1 นาที
จากตัวอย่าง จะเห็นว่าบริการ Internet เป็นต้นทุนกึ่งผันแปร (Semi-variable Costs) ที่ประกอบด้วยต้นทุนคงที่ (Fixed Costs) และต้นทุนผันแปร (Variable Costs) ดังนี้:
- ค่าบริการรายเดือน 500 บาท คือต้นทุนคงที่ที่แม้ว่าไม่ใช่ก็ยังคงต้องจ่าย
- ค่าบริการ Internet ส่วนเกิน 10 บาทต่อ 1 Gigabyte และค่าโทรนาทีละ 0.5 บาท คือต้นทุนผันแปร
ถ้าหากแทนค่าลงในสมการเชิงเส้นจะพบว่า:
ถ้าหากใช้ Internet ไม่เกิน 100 GB (สมมติว่าใช้ไปแค่ 50 GB)
Y = 500 + (10 x 0) = 500 บาท
ถ้าหากใช้ Internet เกินมา 10 GB
Y = 500 + (10 x 10) = 600 บาท
ถ้าหากใช้ Internet เกินมา 100 GB
Y = 500 + (10 x 100) = 1,500 บาท
ถ้าหากใช้ Internet เกินมา 500 GB
Y = 500 + (10 x 500) = 5,500 บาท
จากสมการเชิงเส้นทั้งหมดจะเห็นว่าถ้าหากว่าไม่ใช้ Internet เกินโควต้า 100 Gigabyte (รวมถึงไม่โทรเกิน 250 ชั่วโมง) ต้นทุนจากค่าบริการรายเดือนมือถือจะอยู่ที่ 500 บาท แต่ในทางกลับกันเมื่อไหร่ก็ตามใช้เกินค่าบริการรวมจะเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ตามปริมาณการใช้ในส่วนที่เกินมา
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Wikipedia