ภาษีป้าย คืออะไร?
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่โดยทั่วไปจะเรียกเก็บจากเจ้าของป้ายที่ติดป้ายเพื่อ แสดงชื่อร้าน เครื่องหมายการค้า ชื่อยี่ห้อ และโลโก้ ที่ใช้ในกิจการเพื่อหารายได้หรือเพื่อการโฆษณาทางการค้า อย่างเช่น ป้ายชื่อบริษัท ป้ายโฆษณาตามข้างทาง และป้ายไฟโฆษณาต่างๆ
แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหาตัวเจ้าของป้ายได้ ผู้ครอบครองป้ายนั้นจะต้องเป็นผู้จ่ายภาษีป้ายนั้นแทน และถ้าหากว่ายังไม่สามารถหาตัวเจ้าของป้ายและผู้ครอบครองป้ายได้อีก ผู้ที่จะต้องจ่ายภาษีป้ายแทนคือเจ้าของอาคารหรือที่ดินที่มีป้ายนั้นอยู่
โดยปัจจุบันอัตราภาษีป้ายที่ใช้เป็นอัตราภาษีป้ายที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ตามกำหนดอัตราภาษีป้ายที่ประกาศในปี 2563
อัตราภาษีป้าย
อัตราภาษีป้าย คือ อัตราที่จะใช้คำนวณในการจ่ายภาษีป้าย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของป้าย โดยประเภทของป้ายตามเงื่อนไขของภาษีป้ายที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จะแบ่งป้ายออกเป็น 3 ประเภท โดยป้ายแต่ละประเภทมีอัตราภาษี ดังนี้
ป้ายที่มีแต่อักษรไทย
- ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ ให้คิดอัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายที่มีแต่อักษรไทยนอกจากเงื่อนไขด้านบน ให้คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับต่างประเทศ หรือปนกับภาพ และหรือเครื่องหมายอื่น
- ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายนอกจากเงื่อนไขด้านบน ให้คิดอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือมีเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
- ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ให้คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
- ป้ายนอกจากเงื่อนไขด้านบน คิดอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
การยกเว้นภาษีป้าย
ถึงแม้ว่าป้ายเกือบทุกรูปแบบที่ทำเพื่อการหากำไรจะต้องจ่ายภาษีป้ายตามที่อธิบายไว้ในหัวข้อด้านบน แต่ก็จะมีป้ายบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษีป้าย ได้แก่
ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพ และบริเวณของโรงมหรสพเพื่อโฆษณามหรสพ และป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร ซึ่งค้าผลผลิตจากการเกษตรของตน
ป้ายของหน่วยงานราชการ ได้แก่ ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น รวมถึง ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ป้ายองค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคาร เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตร
ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์ ป้ายบนสินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า
ป้ายโรงเรียนเอกชน ป้ายสมาคมหรือมูลนิธิ ป้ายของวัด หรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา