GreedisGoods » Investment » เครื่องหมาย SP คืออะไร? ทำไมหุ้นขึ้น SP ท้ายชื่อ

เครื่องหมาย SP คืออะไร? ทำไมหุ้นขึ้น SP ท้ายชื่อ

by Kris Piroj
เครื่องหมาย SP คือ Trading Suspension หุ้นขึ้น SP คือ อะไร

เครื่องหมาย SP คืออะไร?

เครื่องหมาย SP คือ เครื่องหมายหุ้น Trading Suspension เป็นเครื่องหมายหุ้นที่แสดงเพื่อห้ามการซื้อขายหุ้นดังกล่าวชั่วคราวนานกว่า 1 รอบการซื้อขาย โดยเหตุผลที่จะทำให้หุ้นขึ้น SP คือการที่หุ้นดังกล่าวมีสิ่งผิดปกติซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ซื้อขายหลักทรัพย์ หรืออาจเกี่ยวกับการถูกเพิกถอน

โดยสาเหตุที่จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น ประกอบด้วย 6 เหตุผล ดังนี้

  1. เมื่อเกิดกรณีเช่นเดียวกับข้อ 1 ถึง 3 ของการขึ้นเครื่องหมาย H และตลาดหลักทรัพย์เห็นว่าบริษัทไม่สามารถชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลได้ในทันที
  2. บริษัทฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติคณะกรรมการ ข้อตกลง ตลอดจนหนังสือเวียนที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้บริษัทปฏิบัติตาม
  3. บริษัทไม่นำส่งงบการเงินให้ตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนด
  4. หลักทรัพย์อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิกถอนหรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานภาพเพื่อให้พ้นข่ายการถูกเพิกถอน
  5. หลักทรัพย์จะครบกำหนดเวลาในการไถ่ถอน หรือการแปลงสภาพ หรือการใช้สิทธิ หรือการขายคืน
  6. มีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการซื้อขายหลักทรัพย์

กล่าวคือ หุ้นขึ้นเครื่องหมาย SP คือการป้องกันนักลงทุนเข้าไปลงทุนในหุ้นที่กำลังมีสิ่งผิดปกติที่ส่งผลต่อผลประโยชน์และการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนอย่างมากและไม่ควรปล่อยให้ซื้อขายต่อไป เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน

เครื่องหมาย SP บอกอะไร?

เครื่องหมาย SP ที่ขึ้นอยู่ท้ายชื่อหุ้น โดยทั่วไปมักจะสามารถแบ่งเหตุผลได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ การที่ก่อนหน้านี้ขึ้นเครื่องหมาย H (Halt) มาก่อนแต่ไม่สามารถชี้แจงข้อมูลได้, กำลังเกี่ยวข้องกับการถูกเพิกถอน, การที่บริษัทฝ่าฝืนอะไรบางอย่าง, เหตุการณ์อื่นที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการซื้อขาย, และหลักทรัพย์จะครบกำหนดเวลาในการไถ่ถอน หรือการแปลงสภาพ หรือการใช้สิทธิ หรือการขายคืน

การที่ขึ้นเครื่องหมาย H มาก่อนแต่ไม่สามารถชี้แจงข้อมูลได้ ซึ่งการที่หุ้นติดเครื่องหมาย H มีที่มาจากการที่มีข่าวสารบางอย่างส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ ราคา หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน, ภาวะการซื้อขายของหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่านักลงทุนบางกลุ่มทราบข้อมูลหรือข่าวสารที่สำคัญ, และการที่บริษัทขอให้ขึ้นเครื่องหมาย H หุ้นของตนชั่วคราวเนื่องจากกำลังจะเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารที่สำคัญ

กำลังเกี่ยวข้องกับการถูกเพิกถอน เป็นได้ทั้งการที่หุ้นดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิกถอน หรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานภาพเพื่อให้พ้นข่ายการถูกเพิกถอน

การที่บริษัทฝ่าฝืนอะไรบางอย่าง เกี่ยวกับการที่บริษัทฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติคณะกรรมการ ข้อตกลง ตลอดจนหนังสือเวียนที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้บริษัทปฏิบัติตาม

เหตุการณ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการซื้อขาย

จะเห็นว่าโดยรวมแล้วเหตุผลที่หุ้นจะขึ้นเครื่องหมาย SP ได้นั้น มักจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลชวนสงสัยเป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่การที่ขึ้นเครื่องหมาย SP ในกรณีของการที่หลักทรัพย์จะครบกำหนดเวลาในการไถ่ถอน หรือการแปลงสภาพ หรือการใช้สิทธิ หรือการขายคืน

หุ้นขึ้น SP ต้องทำยังไง?

ปัญหาของการที่หุ้นขึ้นเครื่องหมาย SP จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนที่ต้องการขายหุ้นที่กำลังมีปัญหาและติดเครื่องหมาย SP ออกไม่ทัน (หรือไม่ขายด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) ซึ่งนักลงทุนจะต้องรอจนกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย SP ชั่วคราวได้ในบางกรณี

โดยการซื้อขายหุ้นที่ขึ้นเครื่องหมาย SP ชั่วคราวจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  1. การเปิดให้ซื้อขายหุ้นชั่วคราวหลังจาก หุ้นติดเครื่องหมาย SP มานาน
  2. การเปิดให้ซื้อขายหุ้นก่อนหุ้นจะถูกนำออกจากตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ การซื้อหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น และระหว่างนั้นหุ้นจะขึ้นเครื่องหมาย NC เพื่อเป็นการเตือนนักลงทุนให้ระวังก่อนจะซื้อหุ้นเหล่านั้น

ซึ่งในอดีตก่อนที่จะปรับปรุงเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นขึ้น SP เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 นักลงทุนจะต้องรอจนกว่าเครื่องหมาย SP จะหายไป

อีกสิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องรู้และควรระวังเมื่อหุ้นขึ้น SP ยังรวมไปถึงในกรณีที่นักลงทุนได้ลงทุนใน DW ที่อ้างอิงหุ้นที่ติด SP เนื่องจาก DW ดังกล่าวก็จะติดสถานะ Trading Suspension หรือเครื่องหมาย SP ตามไปด้วย

ดังนั้น หาก DW ที่อ้างอิงหุ้นดังกล่าวครบกำหนดขณะที่หุ้นติดเครื่องหมาย SP อยู่ ก็จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดราคาอ้างอิงในการใช้สิทธิ DW โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ 2 กรณี เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ได้แก่

  1. หุ้นอ้างอิงกลับมาซื้อขาย (หลุดจาก SP) ภายใน 30 วัน หลังวันทำการซื้อขายสุดท้ายของ DW ให้ใช้ราคาปิดของหุ้นอ้างอิงในวันทำการแรกมาคำนวณเงินสดส่วนต่างสุทธิ
  2. หุ้นอ้างอิงไม่กลับมาซื้อขาย (ไม่หลุดจาก SP) ภายใน 30 วัน หลังวันทำการซื้อขายสุดท้ายของ DW ผู้ออก DW จะจัดทำราคายุติธรรมของหุ้นอ้างอิงโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และคำนวนเงินสดส่วนต่างสุทธิคืน

ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก: วิธีการซื้อขาย การขึ้นเครื่องหมาย (เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด