Stagflation คืออะไร?
Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่มีลักษณะผสมกันระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะงักงันจากการว่างงานสูง และอัตราเงินเฟ้อสูง เป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจประสบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำหรือติดลบ ในขณะที่ต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น
โดยคำว่า Stagflation มาจากการรวมกันของคำว่า Stagnation ที่เป็นภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการว่างงานสูง (High Unemployment Rate) กับ Inflation หรือภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง (ซื้อของได้น้อยลง) ซึ่งทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น
กล่าวคือ Stagflation คือการที่เศรษฐกิจที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อซึ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากการที่ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งที่ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยเนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวที่การว่างงานสูง ซึ่งเป็นภาวะที่ผิดปกติในทางเศรษฐศาสตร์
ภาวะ Stagflation เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในช่วง 1960 ถึง 1970 ขณะนั้นระดับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 12% ในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาสูงถึง 9% สาเหตุหลักของ Stagflation ในสหรัฐอเมริกาครั้งนั้นเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นอย่างมากจากการคว่ำบาตรประเทศผู้ผลิตจนทำให้เกิด Supply Shock หรือการที่ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว (ไม่ได้ลดลงจากกลไกราคาตามปกติ)
Stagflation ที่เกิดจาก Supply Shock ดังกล่าวจึงส่งผลให้ราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตามปริมาณสินค้าที่มีอยู่น้อยในตลาด ในขณะที่กำลังซื้อไม่ได้เพิ่มตามระดับราคาสินค้า เพราะราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการที่คนต่างต้องการสินค้าแต่ราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุน
Stagflation เกิดจากอะไร?
Stagflation เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะงักงันจากการว่างงานสูง (High Unemployment Rate) และอัตราเงินเฟ้อสูง (High Inflation Rate) ที่เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นพื้นฐานที่สุด ซึ่งมักจะมีที่มาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้:
ภาวะ Supply Shock ภาวะที่ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว (โดยไม่ได้ลดลงจากกลไกราคาตามปกติ) ซึ่งทำให้ราคาผลผลิตเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นตาม
Cost Push Inflation ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแรงงานหรือวัตถุดิบ ธุรกิจก็จะส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคด้วยการตั้งราคาที่สูงขึ้น สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ผลกระทบที่หมุนวนซึ่งราคาที่สูงขึ้นนำไปสู่ความต้องการค่าจ้างที่สูงขึ้น และกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้น
นโยบายด้านอุปสงค์ นอกจากนี้การดำเนินนโยบายในระดับเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น การใช้จ่ายภาครัฐที่มากเกินไปหรือนโยบายการเงินที่ขยายตัวมากเกินไปจนสร้างอุปสงค์ที่มากเกินไปจนเกินขีดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของเศรษฐกิจ สิ่งนี้จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในที่สุดหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม
ปัญหาของ Stagflation
ปัญหาของ Stagflation คือ สิ่งผิดปกติในทางเศรษฐศาสตร์ ตามที่ได้อธิบายเอาไว้ว่า Stagflation เกิดจากเงินเฟ้อที่สูงพร้อมกับอัตราการว่างงานที่สูงพร้อมกัน ทั้งที่ตามปกติทั้ง 2 เหตุการณ์จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
ตามปกติแล้วความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) กับ อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) จะสัมพันธ์กันในลักษณะที่ตรงกันข้ามกัน (ความสัมพันธ์แบบผกผัน) ที่เรียกว่า Phillips Curve โดยมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้:
- เงินเฟ้อสูง อัตราว่างงานจะต่ำ (เศรษฐกิจขยายตัว)
- เงินเฟ้อต่ำ อัตราว่างงานจะสูง (เศรษฐกิจชะลอตัว)
กล่าวคือ ถ้าหากไม่ใช่ช่วงที่เศรษฐกิจดีประชาชนมีเงินใช้ ก็ย่อมไม่ทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาดตามหลัก Demand และ Supply
ตามปกติหากไม่มีภาวะ Stagflation การแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงจะทำได้โดยการทำให้เงินเฟ้อลดลงด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง และแก้ปัญหาอัตราว่างงานสูงด้วยการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน นั่นหมายความว่า ตามปกติแล้วการแก้ปัญหาด้วยทางใดทางหนึ่งจะทำให้อีกทางเลือกแย่ลง
แต่อย่างที่บอกว่า Stagflation คือ การที่ทั้ง 2 ปัญหาที่ควรจะตรงกันข้ามกันกลับเกิดขึ้นในด้านที่แย่ทั้งคู่ ดังนั้น จะพบว่าไม่ว่าแก้ด้วยวิธีไหนจะต้องยอมแลกกับผลที่ตามมา ดังนี้
1) ในกรณีที่แก้ปัญหา Stagflation ด้วยการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลง ผลที่ตามมาคือยิ่งทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น
2) แต่ถ้าแก้ปัญหา Stagflation ด้วยการทำให้อัตราว่างงานสูงขึ้น ผลที่ตามมาคือยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ที่ไม่ว่าจะแก้ปัญหาด้วยทางไหนก็จะทำให้อีกปัญหาหนักขึ้น ในขณะที่จะปล่อยเอาไว้ก็ไม่ได้
และนี่คือปัญหาของ Stagflation ที่ทุกประเทศต่างกลัวและพยายามหลีกเลี่ยง เพราะการโดนปัญหาถึง 2 ทางพร้อมกัน ในขณะที่หนทางแก้ไขก็จะเพิ่มปัญหาอีกทางหนึ่ง (ในขณะที่ทางนั้นก็แย่มากอยู่แล้ว) ทำให้การแก้ปัญหา Stagflation นั้นกินเวลาที่ยาวนานจนกว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เป็นปกติ
อย่าง Stagflation ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาที่กล่าวถึงในข้างต้นของบทความ ก็กินเวลาในการแก้ไขปัญหาไปมากกว่า 3 รัฐบาล จนกว่าหลาย ๆ อย่างจะกลับมาเป็นปกติได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก: World Economic Forum, Investopedia, Corporate Finance Institute