งบแสดงฐานะการเงิน คือ งบการเงินที่แสดงถึงโครงสร้างทางการเงินของบริษัทและแสดงความเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และทุนของบริษัท โดยภายในงบแสดงฐานะการเงินจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
ประโยชน์ของงบแสดงฐานะการเงิน (Statement of Financial Position) คือใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการประเมินโครงสร้างทางการเงินของบริษัทจากการประเมินสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
ตัวอย่างเช่น บริษัทมีสินทรัพย์และหนี้สินมากน้อยแค่ไหน สินทรัพย์ที่มีได้มาจากไหน และการเปลี่ยนแปลงของส่วนของเจ้าของ เป็นต้น
โดยวิธีทำงบแสดงฐานะการเงินจะสามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ แบบบัญชี และแบบรายงาน
- แบบบัญชี — แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งซ้ายเป็นรายการสินทรัพย์ ส่วนฝั่งขวาจะเป็นรายการหนี้สินและส่วนของเจ้าของ
- แบบรายงาน — เขียนเรียงลงมาเริ่มจากสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าวิธีทำงบแสดงฐานะการเงินทั้ง 2 วิธีจะต่างกัน แต่ผลลัพธ์ของทั้ง 2 แบบเหมือนกัน โดยตัวอย่างในบทความนี้จะเป็นแบบวิธีทำงบแสดงฐานะการเงินแบบรายงาน
วิธีทำงบแสดงฐานะการเงิน
งบแสดงฐานะการเงิน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ
สินทรัพย์ (Assets)
สินทรัพย์ (Assets) แยกออกเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
ในการทำงบแสดงฐานะการเงินในส่วนของสินทรัพย์ สินทรัพย์จะต้องจัดเรียงตามสภาพคล่องของสินทรัพย์ (อะไรที่เปลี่ยนเป็นเงินได้ไวกว่าขึ้นก่อน)
หนี้สิน (Liabilities)
หนี้สิน (Liabilities) จะแยกออกเป็นหนี้สินหมุนเวียนกับหนี้สินไม่หมุนเวียน
ในส่วนของหนี้สินก็จะคล้ายกับสินทรัพย์ที่ต้องมีการจัดเรียง โดยหนี้สินจะจัดเรียงตามระยะเวลาใช้คืน หนี้ที่ต้องใช้คืนก่อนจะแสดงอยู่ด้านบน
ส่วนของเจ้าของ (Owner’s Equities)
ส่วนของเจ้าของ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของกิจการ อย่างเช่น กรณีของบริษัท จะเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น”
ผลรวมของส่วนของเจ้าของจะต้องเท่ากับ สินทรัพย์ – หนี้สิน เสมอเรียกว่า “สมการบัญชี” (ถ้าไม่เท่าแปลว่าทำผิดด้านใดด้านหนึ่ง)
เพื่อไม่ให้บทความยาวเกินไปสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินทรัพย์หมุนเวียน สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หนี้สินหมุนเวียน หนี้สินไม่หมุนเวียน ส่วนของเจ้าของ และการเรียงลำดับแต่ละรายการได้ที่บทความ: สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ คืออะไร?
งบแสดงฐานะการเงิน แบบรายงาน
ในแต่ละบรรทัดที่เขียนรายการ (สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของ) จะเขียนรายการและตัวเลข แบบตัวอย่างด้านล่าง
เงินสดและรายการเงินสดเทียบเท่าเงินสด 4,789.1
ทำเรียงลงไปทีละหมวดหมู่ เริ่มจากหัวข้อสินทรัพย์ ตามด้วยหนี้สิน และจบด้วยส่วนของเจ้าของ และรวมทุกครั้งที่บรรทัดสุดท้ายของแต่ละหัวข้อ
เริ่มจากการเขียนหัวกระดาษทุกครั้ง (ถ้าใครสอบบัญชีแล้วไม่เขียนด้านบนส่วนมากจะโดนหักคะแนน) ส่วนวิธีเขียนก็ตามนี้
ชื่อบริษัท
งบแสดงฐานะการเงิน
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555
ตัวอย่าง รูปแบบการเขียนงบแสดงฐานะการเงินแบบรายงาน
เริ่มจากสินทรัพย์แบ่งเป็น สินทรัพย์หมุนเวียน และ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

หนี้สินและส่วนของเจ้าของ (รวมกันมีค่าเท่าสินทรัพย์)
เริ่มจากหนี้สินหมุนเวียน หนี้สินไม่หมุนเวียน และส่วนของผู้ถือหุ้น


สามารถดูตัวอย่างงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยกดไปที่บริษัทที่ต้องการ จากนั้นจะเข้ามาที่หน้าของแต่ละบริษัท > แล้วไปที่แถบ “งบการเงิน/ผลประกอบการ” > กดที่ “แบบ 56-1 ล่าสุดปี 25xx” เพื่อดาวน์โหลดแบบ 56-1
ใน 56-1 จะประกอบด้วยไฟล์เอกสารหลายไฟล์ ซึ่งตามปกติงบแสดงฐานะการเงินไฟล์จะชื่อว่า FINANCIAL_xxxx