การปั่นหุ้น คืออะไร?
การปั่นหุ้น คือ การควบคุมราคาของหุ้นให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้ปั่นหุ้นต้องการเพื่อผลประโยชน์ที่ผู้ปั่นหุ้นต้องการจากราคาหุ้นดังกล่าว ซึ่งการปั่นหุ้น (Stock Manipulation) อาจเป็นการแทรกแซงราคาหุ้นด้วยการทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้
โดยพื้นฐานแล้วราคาหุ้นที่ปราศจากการแทรกแซงจากการปั่นหุ้นจะเพิ่มขึ้นลดลงตามกลไกของตลาดไม่ต่างจากสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน เมื่อหุ้นเป็นที่ต้องการมาก (เพราะความคาดหวังจากผลกำไรของหุ้นในอนาคตหรือความคาดหวังต่อราคาหุ้นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตก็ตาม) ราคาของหุ้นก็จะยิ่งสูงขึ้นตามความต้องการซื้อ
ในทางกลับกันถ้าหากหุ้นไม่เป็นที่ต้องการด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น การที่นักลงทุนเชื่อว่าบริษัทจะกำไรลดลงหรือการที่เชื่อว่าราคาหุ้นจะลดลงในอนาคตด้วยเหตุผลบางอย่าง หุ้นดังกล่าวก็จะไม่เป็นที่ต้องการและนักลงทุนก็จะต้องการขายหุ้น เมื่อความต้องการขายมากกว่าความต้องการซื้อราคาหุ้นก็จะลดลง
แต่สำหรับการปั่นหุ้น (Stock Manipulation) จะเป็นสิ่งที่นักลงทุนบางกลุ่มเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดของราคาหุ้นของหุ้นบางบริษัท ซึ่งวิธีการบิดเบือนกลไกตลาดในการปั่นหุ้นสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- การบิดเบือนข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบริษัท
- การเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายเพื่อให้ทิศทางราคาเป็นไปตามที่ต้องการ
- การรักษาราคาหุ้น เพื่อรอโอกาสในการทำอะไรบางอย่าง
ทั้งนี้กระบวนการของ การปั่นหุ้น อาจเกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือออาจกินเวลายาวเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก็ได้
การปั่นหุ้นด้วยการบิดเบือนข้อมูล
การปั่นหุ้นด้วยการบิดเบือนข้อมูล คือ การปล่อยข่าวปลอมเพื่อการบิดเบือนข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบริษัทของนักลงทุน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งข่าวดีหรือข่าวร้าย เพื่อใช้ประโยชน์จากกลไกตลาดของราคาหุ้นที่ได้อธิบายในตอนต้น
โดยเป้าหมายของการปั่นหุ้นด้วยการบิดเบือนข้อมูล คือ การขายหุ้นหลังจากปล่อยข่าวดีที่ทำให้หุ้นเป็นที่ต้องการ (ทำให้ขายหุ้นได้ในราคาที่สูงขึ้น) และการซื้อหุ้นคืนหลังจากปล่อยข่าวร้ายจนนักลงทุนเทขายหุ้น (ทำให้ได้หุ้นคืนมาในราคาที่ต่ำมาก)
นักลงทุนที่ถูกหลอกด้วย “ข้อมูลวงใน” ก็นับว่าถูกปั่นหุ้นด้วยวิธีการนี้เช่นกัน
การเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขาย
การเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขาย คือ การที่ผู้ปั่นหุ้นเข้ามาซื้อ-ขายหุ้น เพื่อทำให้หุ้นที่กำลังปั่นเป็นเหมือนหุ้นที่กำลังได้รับความสนใจ (ไม่ว่าจะขายหรือซื้อก็ตาม) เพื่อให้ทิศทางราคาในมุมมองของนักลงทุนในตลาดเป็นไปตามที่ต้องการ
สำหรับการปั่นหุ้นด้วยวิธีการเข้ามาซื้อขายเอง ยิ่งมูลค่าในตลาดโดยรวมของหุ้นนั้นยิ่งต่ำ (Market Capitalization) ก็ยิ่งทำได้ง่าย เพราะใช้เงินเข้าไปซื้อขาย ๆ ไม่กี่ล้านก็ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
โดยมีเป้าหมายคล้ายกันกับการปั่นหุ้นด้วยการบิดเบือนข้อมูลคือเพื่อให้นักลงทุนซื้อหรือขายหุ้นตามที่ต้อองการ ซึ่งจะทำให้ผู้ปั่นหุ้นสามารถขายหุ้นได้ในราคาที่สูงขึ้น หรือซื้อหุ้นคืนได้ในราคาที่ถูกลง
การรักษาราคา
การรักษาราคา คือ พยุงราคาหุ้นเอาไว้ไม่ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อที่จะรอโอกาสทำอะไรบางอย่างในอนาคต
การรักษาราคา หรือ การพยุงราคาหุ้น มักพบได้บ่อยกับหุ้น IPO ที่เข้าตลาดใหม่ เพื่อที่จะทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจกับหุ้น IPO ดังกล่าว ว่าหุ้นนี้ราคาจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงกันแน่ หรือรอจนกว่าจะมีนักลงทุนเข้ามามากพอตามเป้าที่ต้องการ ก่อนที่จะเทขายหุ้นทำกำไรในครั้งเดียวโดยที่นักลงทุนไม่ทันตั้งตัว
ใครดูแลควบคุมการปั่นหุ้น?
จากการที่ การปั่นหุ้น และ หุ้นปั่น สร้างความวุ่นวายแก่ตลาดและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่นักลงทุน ทำให้ทุกตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีหน่วยงานที่ควบคุมเกี่ยวกับการปั่นหุ้นอยู่ โดยหน่วยงานที่ควบคุมการปั่นหุ้นของไทย คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา จะเรียกว่า Securities and Exchange Commission หรือ SEC
ข้อมูลอ้างอิงจาก: Investor.gov