GreedisGoods » Finance » การซื้อหุ้นคืน คืออะไร? เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังและผลกระทบ

การซื้อหุ้นคืน คืออะไร? เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังและผลกระทบ

by Kris Piroj
การซื้อหุ้นคืน คือ บริษัท ซื้อหุ้นคืน Treasury Stock คือ

การซื้อหุ้นคืน คืออะไร?

การซื้อหุ้นคืน คือ การที่บริษัทจดทะเบียนทำการซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) จากนักลงทุน เพื่อนำหุ้นซื้อคืน (Treasury Stock) มาถือเอาไว้เอง ส่งผลให้จำนวนหุ้นที่เหลือซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ น้อยลง

โดยหุ้นที่บริษัทจดทะเบียนทำการซื้อคืนมาจะเรียกว่า Treasury Stock หรือ หุ้นซื้อคืน ซึ่งเป็นหุ้นที่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะคะแนน และไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล

ทั้งนี้ การที่บริษัทจดทะเบียนจะสามารถซื้อหุ้นคืนได้ บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวต้องมีกำไรสะสม มีสภาพคล่องส่วนเกิน ต้องไม่ทำให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 15% และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นหากซื้อหุ้นคืนมากกว่า 10% ของทุนที่ชำระแล้ว

นอกจากนี้ กฎหมายบริษัทมหาชนของไทยได้กำหนดให้บริษัทที่ซื้อหุ้นคืนต้องนำหุ้นที่ซื้อคืนกลับไปขายให้หมดใน 3 ปี ถ้าหากบริษัทไม่นำขายหุ้นคืนสู่ตลาด บริษัทก็จะต้องลดทุนที่ชำระแล้ว ซึ่งในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนซื้อหุ้นคืนแล้วเลือกที่จะลดทุน ก็จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นลดลง

เหตุผลในการซื้อหุ้นคืน

โดยทั่วไปการซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) ของบริษัทจดทะเบียนจะเกิดขึ้นจาก 3 เหตุผล ได้แก่ เพื่อลดเงินสดในมือของบริษัท เพื่อลดจำนวนหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้น และเพื่อลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท

การซื้อหุ้นคืนเพื่อลดเงินสดในมือ เกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทมีผลกำไรและมีเงินสดเหลือในมือมากเกินไป และบริษัทไม่ได้ต้องการใช้เงินจำนวนดังกล่าวในการลงทุนใดๆ ทำให้หลายครั้งบริษัทตัดสินใจซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เพื่อลดเงินสดในมือและหวังผลในการลดจำนวนผู้เกี่ยวข้องและลดจำนวนหุ้นในตลาด

การซื้อหุ้นคืนเพื่อลดจำนวนหุ้นในตลาด (Free Float) เป็นการซื้อหุ้นคืนเพื่อลดอุปทาน (Supply) ของหุ้นในตลาดลง การซื้อหุ้นคืนในลักษณะนี้จะส่งผลให้ราคาหุ้นอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ปริมาณหุ้นในตลาดลดลงในขณะที่ความต้องการซื้อ (Demand) เท่าเดิม สำหรับการซื้อหุ้นคืนในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทรู้สึกว่าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

การซื้อหุ้นคืนเพื่อลดจำนวนผู้เกี่ยวข้อง เป็นการซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนรายย่อยทั่วไปในตลาดหุ้น (ซึ่งนับได้ว่าเป็นคนนอก) เพื่อทำให้เสียงของคนนอกเข้ามามีผลกับบทบาทการบริหารงานของบริษัทได้น้อยลง ส่งผลให้บริษัทมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น และไม่ต้องสนใจผู้ถือหุ้นทั่วไปมากนัก

นอกจากนี้ ในแง่ของมุมมองต่อบริษัท บางครั้งนักลงทุนอาจมองว่าการซื้อหุ้นคืนเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริหารต่อตัวบริษัท ที่มองว่าขณะนี้ราคาหุ้นต่ำเกินไป

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือนักลงทุนหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าแท้จริงแล้วทำไมบริษัทนั้นถึงได้ทำการซื้อหุ้นคืน และการซื้อหุ้นคืนแท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากตามเหตุผลที่ประกาศออกมาจริงหรือไม่

ผลจากการซื้อหุ้นคืน

การซื้อหุ้นคืน (Stock Repurchase) โดยทั่วไปจะมีผลกระทบที่ตามมา 4 รูปแบบ ได้แก่

  • ราคาหุ้นอาจเพิ่มสูงขึ้น (ตามกลไกที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้)
  • เงินปันผลเพิ่มขึ้น
  • ROE ของหุ้นเพิ่มขึ้น
  • กำไรต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น

ราคาหุ้นอาจเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการที่บริษัทซื้อหุ้นทำให้อุปทาน (Supply) ของหุ้นในตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการซื้อ (Demand) เท่าเดิม จึงส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นตามกฎของอุปทาน (ถ้าหากว่าซื้อหุ้นคืนไปมากพอ)

เงินปันผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากการที่จำนวนผู้ถือหุ้นที่เป็นตัวหารแบ่งกำไรลดลง ตัวอย่างเช่น บริษัท Tesla กำไร 100 บาท เดิมมีหุ้น 100 หุ้น เงินปันผล (Dividend) จะเท่ากับหุ้นละ 1 บาท แต่เมื่อบริษัทซื้อหุ้นคืน 50 หุ้น ทำให้ตอนนี้เหลือเพียง 50 หุ้น ดังนั้นเงินปันผลต่อหุ้นของ TESLA จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อหุ้นแทน

ROE ที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อหุ้นคืนเกิดจากการที่ตัวหารของ ROE ลดลง เพราะ ROE = กำไรสุทธิ ÷ ส่วนของผู้ถือหุ้น ดังนั้นแล้ว การที่ตัวหารน้อยลงผลหารหรือค่า ROE (Return on Equity) ที่ได้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตาม

กำไรต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น จากการที่จำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดลดลง (ในอีกแง่หนึ่ง สภาพคล่องของหุ้นนั้นก็จะลดลงเช่นกัน) ซึ่งทำให้ตัวหารลดลงจึงทำให้ค่า EPS หรือกำไรต่อหุ้นที่ออกมามีค่ามากขึ้น ในทางกลับกันเมื่อ EPS เพิ่มขึ้น P/E Ratio ก็จะลดลง

ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนและการซื้อหุ้นคืนแบบละเอียด: SETInvestNow และ SET

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด