Supply คือ อุปทานหรือความต้องการขาย ซึ่งเป็นปริมาณสินค้าที่ผู้ผลิตต้องการขายให้กับผู้บริโภค โดยธรรมชาติของอุปทาน หรือ Supply จะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับราคาของสินค้า เมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นความต้องการขายสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นตาม (สินค้าราคาเพิ่มจูงใจให้อยากขาย)
ในทางกลับกัน เมื่อสินค้ามีราคาลดลง ความต้องการขายสินค้าของผู้ขาย (Supply) ก็จะลดลงตาม
พูดง่าย ๆ คือยิ่งของแพงคนยิ่งอยากขายสินค้านั้น ในขณะเดียวกันราคาที่ลดลงก็จะทำให้ความอยากขายสินค้าลดลงเช่นกัน
เมื่อเขียนเป็นกราฟออกมาจะได้เป็นเหมือนกราฟด้านล่างที่เมื่อราคา (P) เพิ่มขึ้น ปริมาณ (Q) จะเพิ่มขึ้นตามไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเราเรียกความสัมพันธ์ระหว่างระดับราคากับความต้องการขายนี้ว่า Law of Supply หรือ กฎของอุปทาน

จากกราฟจะเห็นว่าเมื่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจาก P2 ขึ้นไปเป็น P1 ความต้องการขายสินค้าก็จะเพิ่มขึ้นจาก Q2 เป็น Q1 ตาม และในทางกลับกันเมื่อราคาสินค้าลดลงจาก P2 เหลือ P3 ความต้องการขายสินค้าก็จะลดลงจาก Q2 เหลือ Q3 เช่นกัน
ปัจจัยอะไรที่มีผลกับ Supply บ้าง
โดยทั่วไปปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการขายหรือ Supply ของผู้ขาย ได้แก่:
ราคาของสินค้า – อย่างที่อธิบายไว้ด้านบนเกี่ยวกับ Law of Supply คือ ถ้าสินค้าราคายิ่งแพง ผู้ขายก็ยิ่งอยากขายมากขึ้น
ราคาของสินค้าชนิดอื่น – เมื่อผู้ขายเห็นว่าราคาสินค้าชนิดอื่นแพงกว่า ส่งผลให้ผู้ขายเลิกผลิตสินค้าปัจจุบัน (หรือเลิกขาย) แล้วไปผลิตสินค้านั้นแทน (หรือขายสินค้านั้น)
ต้นทุนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต – ยิ่งสามารถผลิตง่ายก็ยิ่งมีสินค้าซ้ำ ๆ กันออกมาขายเพิ่มมากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่าง Demand กับ Supply
นอกจากนี้ อุปทาน หรือ Supply จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ Demand หรืออุปสงค์ เพราะ Demand คือความต้องการซื้อเป็นด้านตรงข้ามกับ Supply ที่เป็นความต้องการขาย
ถึงแม้ว่าเมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ความต้องการขาย หรือ Supply เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากทำความเข้าใจกับความต้องการซื้อหรือ Demand แล้วจะพบว่ายิ่งปริมาณสินค้าเพิ่มมากขึ้น ระดับความต้องการสินค้าก็จะลดลง และแน่นอนว่าราคาสินค้าก็จะลดลงตาม
ซึ่งการที่ผู้ขายแห่เข้ามาขายสินค้าบางอย่าง เพราะเห็นว่าสินค้านั้นราคาแพง จนจำนวนผู้ขายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในท้ายที่สุดจะทำให้ระดับราคาสินค้านั้นลดลงเรื่อย ๆ ทั้งจากการที่สินค้ามากกว่าคนซื้อและการตัดราคากันเอง
และในท้ายสุดราคาของสินค้าจะลดลงเข้าสู่จุดที่เหมาะสม เหมือนจุด Balance ระหว่างความต้องการซื้อ (Supply) และความต้องการขาย (Demand) โดยเราจะเรียกจุดนี้ว่า จุดดุลยภาพ หรือ Equilibrium
ดังนั้น ผู้ที่คิดจะทำธุรกิจบางอย่างเพราะเห็นว่าใคร ๆ ก็ทำกัน หรือเห็นเค้าขายได้ก็เลยคิดจะทำบ้าง อยากให้ลองคิดถึงจุดนี้ดูก่อน เพราะการที่ไม่ใช่คนแรก ๆ ที่บุกเบิก ถ้าจะไปให้ไกลถึงจุดที่เห็นแล้วอยากทำตามได้ก็คือต้องโดดเด่นกว่าหรือมีความแตกต่างไม่มากก็น้อยจากต้นฉบับ