สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไทย ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 และ GDP ไทยทั้งปี 2563 รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของ GDP ไทยในปี 2564
Highlights
- GDP ไทยไตรมาส 4 ของปี 2563 หดตัวติดลบ 4.2%
- ภาพรวม GDP ไทยของปี 2563 ทั้งปีหดตัวติดลบ 6.1%
- คาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปี 2564 ตลอดทั้งปีขยายตัว 2.5 – 3.5%
GDP ไทยไตรมาส 4 หดตัว 4.2% มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3 ที่หดตัวถึง 6.4% โดยตัวเลข GDP ของไทยที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนและรัฐบาลขยายตัว การลงทุนในประเทศ และการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น แม้ว่ารายรับที่มาจากบริการต่างประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในแต่ละภาคเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ทั้งสี่ส่วนของ GDP มีรายละเอียดดังนี้
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน (C) ขยายตัว 0.9%
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล (G) ขยายตัว 1.9%
- การลงทุน (I) ลดลง 2.5%
- การส่งออกและนำเข้าสินค้า (Net Export) ลดลง 21.4% และ 7.0% ตามลำดับ
โดยมูลค่าของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ด้านการใช้จ่ายมีมูลค่า 4.07 ล้านล้านบาท และด้านการผลิตมีมูลค่า 4.14 ล้านล้านบาท
การขยายตัวของ GDP ตามหน่วยเศรษฐกิจ
สรุป อัตราการขยายตัวของ GDP ไทยไตรมาส 4 ของปี 2563 ตามหน่วยเศรษฐกิจทั้ง 5 ส่วนของสมการ GDP เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2563

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 0.9% ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลง 0.6% ในไตรมาสที่ 3/2563 โดยหมวดสินค้าไม่คงทน และการบริการสุทธิ ขยายตัว 1.1% และ 7.5% ตามลำดับ ส่วนการอุปโภคในกลุ่มสินค้าคงทน และกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน ลดลง 9.2% และ 12.4% ตามลำดับ
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัว 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 โดยค่าตอบแทนแรงงาน และรายจ่ายซื้อสินค้าและบริการ ขยายตัว 3.0% และ 4.4% ตามลำดับ ส่วนการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน ลดลง 0.8%
การลงทุนรวม ลดลง 2.5% เทียบกับที่ลดลง 2.6% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 การลงทุนภาคเอกชนลดลง 3.3% ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือภาคเอกชนลดลง 3.2% ดีขึ้นจากที่ลดลง 13.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนลดลง 3.8% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 0.6% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือลดลง 6.4% ส่วนการลงทุนด้านก่อสร้างขยายตัว 2.9%
ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ มูลค่า ณ ราคาประจำปีเพิ่มขึ้น 282.9 พันล้านบาท สินค้าคงคลังสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารามันสำปะหลัง เหมืองแร่ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพวง การผลิตยานยนต์ และทองคำ สำหรับสินค้าคงคลังที่ลดลง ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล การฆ่าสัตว์ปีก และการผลิตเนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง และการผลิตเคมีภัณฑ์มูลฐาน
ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล 31.1 พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล 252.6 พันล้านบาท และดุลบริการขาดดุล 221.5 พันล้านบาท

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2564
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.5 – 3.5% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่
- แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
- แรงขับเคลื่อนจำกการใช้จ่ายภาครัฐ
- การกลับมาขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ
- กำรปรับตัวตามฐานกำรขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
นอกจากนี้ ยังคาดว่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
และการลงทุนรวมขยายตัว 2% และ 5.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0 – 2.0% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- การแถลงข่าวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 4/2563 – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
- รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4/2563 – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ