- ส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2563 ขยายตัว 4.71% กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน
- มูลค่าการส่งออกไทยปี 2563 ทั้งปีมีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.01% จากปีที่แล้ว
ส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2563 ขยายตัว 4.71% พลิกกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน โดยมูลค่าการส่งออกไทยในเดือนธันวาคม 2563 ตลอดทั้งเดือนมีมูลค่าอยู่ที่ 20,082.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับมูลค่าการส่งออกไทยปี 2563 ตลอดทั้งปีมีมูลค่าอยู่ที่ 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.01% จากปีที่แล้ว
ในเดือนธันวาคม 2563 สินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้า 3 กลุ่มเดิมที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ คือ
- สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร
- สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
- สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง
นอกจากสินค้าใน 3 กลุ่มหลักที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ยังมีกลุ่มสินค้าที่การส่งออกกลับมาขยายตัวในเดือนธันวาคม 2563 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมถึงรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก และซัพพลายเชนของสินค้าส่งออกไทย
กระทรวงพาณิชย์มองว่าการส่งออกไทยในปัจจุบันได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4.0% เนื่องจากได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่จะช่วยทำให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อที่มากขึ้น
ตลาดส่งออกเดือนธันวาคม 2563
ตลาดส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2563 ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่หลายตลาดในเอเชียตะวันออกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และตลาดเอเชียใต้อย่างอินเดีย
รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ต่างมีอัตราการหดตัวที่ลดลงอย่างมากในเดือนนี้ เช่น ตลาดสหภาพยุโรป และ CLMV ที่แม้จะยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี
- ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 15.7% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 ขยายตัว 9.6%
- ตลาดจีน กลับมาขยายตัว 7.2% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 ขยายตัว 2%
- ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 14.8% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 6.7%
- ตลาดสหภาพยุโรป หดตัว 2.4% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 12.7%
- ตลาดอาเซียน ขยายตัว 0.8% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 12.2%
- ตลาดอินเดีย ขยายตัว 14.5% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 25.2%
- ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 13.5% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 7.6%
- ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 0.1% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 13%
- ตลาดลาตินอเมริกา หดตัว 8.8% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 19%
- ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัว 3.2% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 19.4%
- ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัว 16.9% ขณะที่ตลอดทั้งปี 2563 หดตัว 21.1%
มุมมองของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
การส่งออกไทยได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 4.0 เนื่องจากได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น
ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมายึดถือตามกติกาของ WTO จะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งจากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ก็เป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย
ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า อาทิ CPTPP ซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในอนาคต อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า และเสียเปรียบคู่แข่งขันในภูมิภาคเดียวกัน