สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศ GDP ไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ติดลบ 1.8% จากภัยแล้งและโควิด-19
GDP ของประเทศไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 หดตัวลดลง 1.8% เทียบกับไตรมาสที่ 4/2562 ที่ขยายตัว 1.5% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ ที่คาดการณ์เอาไว้ว่า -4% สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ที่ลดลงเป็นผลมาจากการส่งออก การลงทุนของภาครัฐและเอกชน และการใช้จ่ายอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลลดลง และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนที่ชะลอตัวลง
รวมถึงการผลิตลดลงทั้งภาคเกษตรและภาคนอกเกษตร โดยการผลิตของภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ส่วนภาคนอกเกษตรเกิดจากการลดลงทั้งการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มบริการ ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัว
สรุป ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละอุตสาหกรรมที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563
- การเงิน +4.5%
- การบริโภคภาคเอกชน +3%
- อุตสาหกรรม -2.7%
- การใช้จ่ายของภาครัฐ -2.7%
- ภาคเกษตรกรรม -5.7%
- ภาคนอกเกษตร -1.7%
- ขนส่งและคมนาคม -6.0%
- การลงทุนรวม -6.5% (มาจาก การลงทุนภาครัฐ -9.3% และการลงทุนภาคเอกชน -5.5)
- การส่งออก -6.7%
- ก่อสร้าง -9.9%
- โรงแรมและภัตตาคาร -24.1
สำหรับในส่วนของคาดการ GDP ของไทยตลอดทั้งปี 2563 สภาพัฒน์คาดการณ์เอาไว้ที่กรอบระหว่าง -5% ถึง -6% (ค่ากลางคือ -5.5%)
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประมาณการนี้อยู่บนเงื่อนไขสมมติฐานที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยไตรมาสที่ 3 เริ่มกลับมาปกติและกลับมาเดินทางได้ และในไตรมาสที่ 4 เริ่มกลับมาท่องเที่ยวได้และมีนักท่องเที่ยวกลับมา
อัตราการขยายตัว (YoY) ตามกลุ่ม
การใช้จ่ายขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 3% (ไตรมาสที่ 4/2562 ขยายตัว 4.1%) โดยการอุปโภคในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้ากึ่งคงทนลดลง 8.8% และ 4.4% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มสินค้าไม่คงทนและกลุ่มบริการขยายตัว 2.8% และ 9.3%
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ลดลง 2.7% (ไตรมาสที่ 4/2562 ลดลง 0.9%) โดยรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง 10.4% ค่าตอบแทนแรงงานเพิ่มขึ้น 1.1% ส่วนการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น 10%
การลงทุนรวม ลดลง 6.5% (ไตรมาสที่ 4/2562 ขยายตัว 0.8%) การลงทุนภาคเอกชนลดลง 5.5% เป็นผลมาจากการลงทุนด้านการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงมากถึง 4.3% และการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือภาคเอกชนลดลง 5.7% ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลง 9.3% ตามการลดลงของการลงทุนด้านก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างของรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบจากงบประมาณประจำปี 2563 ที่ล่าช้า

การส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการ ลดลง -6.7% และ -2.5% ตามลำดับ ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี เกินดุล 325.1 พันล้านบาท โดยดุลการค้าเกินดุล 253.6 พันล้านบาท และดุลบริการเกินดุล 71.5 พันล้านบาท
ส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ มูลค่า ณ ราคาประจำปีเพิ่มขึ้น 133.6 พันล้านบาท สำหรับสินค้าคงคลังสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวสาร น้ำตาล เครื่องประดับอัญมณี เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง และคอมพิวเตอร์ สำหรับสินค้าคงคลังที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก เคมีภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ และทองคำ
ตารางผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี

ที่มาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2563