ดอกเบี้ย THOR คืออะไร?
THOR คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคารของไทย (Thai Overnight Repurchase Rate : THOR) เป็นอัตราดอกเบี้ยรายวันที่สะท้อนภาวะตลาดการเงินของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงของตลาดการเงินในธุรกรรมที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Interest Rate) เช่น สินเชื่อและหุ้นกู้
อัตราดอกเบี้ย THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่คำนวณมาจากอัตราตราดอกเบี้ยกู้ยืมของธุรกรรมระหว่างธนาคารในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนช่วงระยะเวลาข้ามคืน โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) เป็นผู้คำนวณและเผยแพร่ THOR Rate และ THOR Average รายวัน
โดยอัตราดอกเบี้ย THOR จะเผยแพร่รายวันทุกวันทำการเวลา 17.00 น. และ THOR Average จะเผยแพร่รายวันทุกวันทำการเวลา 09.30 น. ผ่านเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
การเปลี่ยนมาใช้ Thai Overnight Repurchase Rate หรือ THOR Rate คือสิ่งที่เป็นผลตามมาหลังจากดอกเบี้ย LIBOR (London Interbank Offered Rate) ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดการเงินโลกมาอย่างยาวนานจะยุติบทบาทลงภายในสิ้นปี 2564 ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องหันมาพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในประเทศขึ้นมาเอง
ดอกเบี้ย THOR จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของไทยที่ใช้เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงของตลาดการเงินในธุรกรรมที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Interest Rate) ที่จะมาแทน LIBOR นั่นเอง
โดยตลาดเงินไทยเริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ในการทำสัญญาอนุพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิง THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Overnight Indexed Swap: OIS) โดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคารกสิกรไทย
ทำไมดอกเบี้ย THOR มาแทน LIBOR
สาเหตุหลักที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพัฒนาอัตราดอกเบี้ย THOR หรือ Thai Overnight Repurchase Rate มาจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลการเงินของอังกฤษ (Financial Conduct Authority : FCA) ประกาศให้ธนาคารไม่ต้องส่งข้อมูลที่นำมาใช้คำนวณ LIBOR หลังจากปี 2564 เพราะอัตราดอกเบี้ย LIBOR จะถูกยกเลิก
สาเหตุที่ทำให้ LIBOR ต้องล่มสลายเป็นผลมาจากการที่ 8 ปีก่อนได้พบการบิดเบือนข้อมูลที่ธนาคารต้องส่งให้คำนวณ LIBOR ด้วยจุดประสงค์แทรกแซงอัตราดอกเบี้ย LIBOR ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมาความน่าเชื่อถือของ LIBOR ลดลงมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนออกมาจากการที่ธุรกรรมในตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง
การที่ LIBOR ถูกยกเลิกส่งผลให้ทุกประเทศที่เคยใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR ต้องพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงพันธบัตรภาคเอกระยะข้ามคืนขึ้นมาเอง
โดยไทยเองก็จำเป็นที่จะต้องยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ย THBFIX (Thai Baht Interest Rate Fixing) ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก THBFIX คืออัตราดอกเบี้ยที่คำนวณมาจากอัตราดอกเบี้ย LIBOR
อัตราดอกเบี้ยธอร์ THOR (THOR : Thai Overnight Repurchase Rate) จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงพันธบัตรภาคเอกระยะข้ามคืนของไทยที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน LIBOR และใช้ Fallback THBFIX เป็นอัตราดอกเบี้ยที่มาทดแทน THBFIX กับสัญญาเดิม (legacy contract) เท่านั้น หลังจากไม่มีการเผยแพร่ LIBOR
ดอกเบี้ย THOR อ้างอิงจากอะไร
ดอกเบี้ย THOR คือ อัตราดอกเบี้ยที่คำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณธุรกรรม (Volume-Weighted Average) ของธุรกรรมในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืน (Repo) เฉพาะธุรกรรมที่เข้าข่ายเป็น Qualified Transaction
สำหรับธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไข Qualified Transaction จะต้องเข้าเงื่อนไขทั้งหมด ดังต่อไปนี้
- ธุรกรรมที่คู่สัญญา 2 ฝั่งเป็นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
- ธุรกรรมระยะข้ามคืนที่มีการตกลงและชำระราคาในวันนั้น โดยการตกลงเกิดขึ้นระหว่างเวลา 7.00 น. ถึง 16.00 น. รวมถึงธุรกรรมที่รายงานมายังสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยภายใน 16.30 น.
- ธุรกรรมขนาด 100 ล้านบาทขึ้นไป
ในกรณีที่ไม่มี Qualified Transaction ดอกเบี้ย THOR ในวันนั้นจะเผยแพร่โดยใช้ค่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ของวันทำการก่อนหน้าปรับด้วยการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะข้ามคืนในวันเดียวกันจาก BIBOR ของวันทำการก่อนหน้า

อธิบายให้ง่ายกว่านั้น อัตราดอกเบี้ย THOR คือ อัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงจากดอกเบี้ยกู้ยืมของธุรกรรมระหว่างธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีธุรกรรมขนาด 100 ล้านบาทขึ้นไปในตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนช่วงระยะเวลาข้ามคืน
THOR Average
THOR Average คือ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่คำนวณจากการคิดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR แบบทบต้นย้อนหลังในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงระยะเวลา 1 เดือน, 3 เดือน, และ 6 เดือน เพื่อสะท้อนอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมสำหรับงวดที่สิ้นสุดในวันเผยแพร่ THOR Average
โดย THOR Average จะใช้วิธีการคำนวณโดยเริ่มจากการใช้ดอกเบี้ย THOR วันก่อนหน้าวันเผยแพร่ THOR Average ย้อนกลับไปหาวันเดียวกันกับวันที่เผยแพร่ ในระยะ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือนก่อนหน้านั้น

- t คือ วันที่เผยแพร่ข้อมูล THOR Average
- THORi คือ อัตราดอกเบี้ย THOR ในวันทำการ i
- i คือ วันทำการ (business day) แต่ละวันในช่วงเวลาที่คำนวณ
- ai คือ จำนวนวันปฏิทิน (calendar day) ที่ใช้ THORi (ถ้า i คือวันศุกร์ THORi จะใช้สำหรับวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์รวม 3 วัน ai ก็จะเท่ากับ 3)
- dc คือ จำนวนวันปฏิทิน (calendar day) ในช่วงเวลา 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน
โดยการนับจำนวนวัน dc จะนับย้อนหลังแบบวันชนวัน จาก t ไปหาที่วันเริ่มต้นคำนวณ และปรับวันเริ่มต้นคำนวณที่ตรงกับวันหยุดด้วยวิธี modified preceding
ในกรณีที่เมื่อนับแบบวันชนวันแล้ววันเริ่มต้นคำนวณตรงกับวันหยุด ให้เลื่อนวันเริ่มต้นคำนวณไปเป็นวันทำการก่อนหน้า แต่ถ้าเลื่อนแล้ววันเริ่มต้นกลายเป็นเดือนก่อน ให้เลื่อนวันเริ่มต้นเป็นวันทำการถัดไปแทน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- คำอธิบายข้อมูลอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืน (Thai Overnight Repurchase Rate) และอัตราดอกเบี้ย THOR Average – ธนาคารแห่งประเทศไทย
- คำอธิบายข้อมูลดัชนีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (THOR Index) – ธนาคารแห่งประเทศไทย
- อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงและแนวทางรองรับการยุติการใช้ LIBOR – ธนาคารแห่งประเทศไทย