GreedisGoods » Finance » Trailing P/E คืออะไร? มีที่มาจากไหน บอกอะไรนักลงทุนบ้าง

Trailing P/E คืออะไร? มีที่มาจากไหน บอกอะไรนักลงทุนบ้าง

by Kris Piroj
Trailing P/E คือ อัตราส่วน P/E Ratio ในอดีต แบบ Trailing P/E Ratio

Trailing P/E คืออะไร?

Trailing P/E คือ รูปแบบหนึ่งของอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earning Ratio หรือ P/E) ที่คำนวณมาจากการใช้มูลค่าราคาหุ้นปัจจุบันเทียบกับกำไรต่อหุ้น (EPS) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาของบริษัทดังกล่าว

กล่าวคือ Trailing P/E Ratio = ราคาหุ้นปัจจุบัน ÷ EPS ของหุ้น โดยที่ EPS คำนวณมาจากข้อมูล 12 เดือนล่าสุด

Trailing P/E เป็นการคำนวณ P/E Ratio รูปแบบที่แพร่หลายที่สุดในอุตสาหกรรมการเงินและในห้องเรียนวิชาการเงิน เนื่องจากเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุดในการคำนวณ เพราะเป็นการนำข้อมูลทางการเงินในอดีตของบริษัทที่รายงานอยู่แล้วในงบกำไรขาดทุนที่บริษัทต้องจัดทำทุกปีมาใช้

ทั้งนี้ เมื่อข้อมูลที่นำมาใช้คำนวณ Trailing P/E คือข้อมูลในอดีตซึ่งเป็นข้อมูลย้อนกลับที่ไม่ได้คำนึงถึงการเติบโตหรือศักยภาพในการหารายได้ในอนาคตของบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด

โดยนักลงทุนจะใช้ Trailing P/E เป็นเครื่องประเมินมูลค่าที่บอกให้นักลงทุนทราบมูลค่าที่พวกเขายินดีที่จะจ่ายซื้อหุ้นว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่สำหรับกำไรแต่ละบาทที่บริษัทสร้างขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

และสิ่งสำคัญคือ P/E Ratio หรืออัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้นเป็นอัตราส่วนที่จะเป็นประโยชน์เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือข้อมูลในอดีตของบริษัทตนเองเพื่อทำความเข้าใจการประเมินมูลค่าที่เกี่ยวข้อง

วิธีคำนวณ Trailing P/E

Trailing P/E เป็นวิธีคำนวณอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น หรือ P/E รูปแบบหนึ่ง โดยคำนวณมาจากการใช้ราคาหุ้นปัจจุบันของบริษัทดังกล่าว (P หรือ Price) หารด้วยอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (Earnings per Share : EPS) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาของบริษัทดังกล่าว (โดยมีหน่วยเป็นเท่า)

Trailing P/E = Price ÷ Last 12 months EPS

ตัวอย่างเช่น ถ้าราคาหุ้นของบริษัท GGS ในปัจจุบัน คือ 60 บาทต่อหุ้น และค่า EPS หรืออัตราส่วนกำไรต่อหุ้นของบริษัท GGS จากข้อมูลในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา คือ 3 บาทต่อหุ้น

ดังนั้นในการคำนวณหา Trailing P/E = 60 ÷ 3 = 20 เท่า

กล่าวคือ ราคาหุ้น GGS ในปัจจุบันต่อ 1 หุ้น คิดเป็น 20 เท่าของกำไร (บาท) ที่นักลงทุนที่ถือหุ้นจะได้รับจาก 1 หุ้น

หรือในอีกความหมายหนึ่ง ถ้าหากนักลงทุน A ซื้อหุ้น GGS ในราคา 60 บาทต่อหุ้นในวันที่คำนวณ โดยที่ราคาหุ้นและผลกำไรในอนาคตของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้นักลงทุนถึงจุดคุ้มทุนและได้ทุนคืนจากหุ้นในระยะเวลา 20 ปี

อัตราส่วน Trailing P/E บอกอะไร?

โดยทั่วไป Trailing P/E คือเครื่องมือทางการเงินที่นักลงทุนใช้ในการเปรียบเทียบมูลค่าของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างรวดเร็ว เพื่อพิจารณาคร่าว ๆ ว่าปัจจุบันหุ้นของบริษัทมีสัดส่วนราคาเมื่อเทียบกับผลดำเนินงานจริง ๆ เป็นอย่างไร ในการวิเคราะห์ว่าราคาหุ้นดังกล่าวแพงเกินไปแล้วหรือไม่

ซึ่งนักลงทุนมักจะสนใจประเด็นเหล่านี้ในการวิเคราะห์ Trailing P/E Ratio:

การเปรียบเทียบภายในอุตสาหกรรม (Relative Valuation): ด้วยการเปรียบเทียบบริษัทต่างในอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทที่มีอัตราส่วน Trailing P/E ต่ำกว่าอาจถูกพิจารณามีราคาที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผลดำเนินงานของบริษัท (Undervalue) เมื่อเทียบกับบริษัทที่มีอัตราส่วน Trailing P/E ที่สูงกว่า

ศักยภาพของการทำไรของบริษัท: แม้ว่าค่า Trailing P/E เป็นข้อมูลในอดีตที่อาจหมายความว่าบริษัทที่มีอัตราส่วน Trailing P/E สูงอาจมีศักยภาพในการเติบโตของรายได้ที่ดี แต่ในทางกลับกันก็อาจบ่งชี้ว่ารายได้ของบริษัทนั้นสูงเกินจริงในช่วงที่ผ่านมาและแสดงถึงความไม่ยั่งยืนของรายได้ระดับนั้น

อารมณ์ของตลาด (Market Sentiment): นอกจากนี้ Trailing P/E ยังสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้อารมณ์ตลาดที่มีต่อหุ้นของบริษัทได้ อัตราส่วน Trailing P/E ที่สูงขึ้นอาจบ่งชี้ว่านักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับศักยภาพการเติบโตของบริษัทในอนาคต ในขณะที่อัตราส่วน Trailing P/E ที่ต่ำกว่าอาจบ่งชี้ว่านักลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ Trailing P/E มีข้อจำกัดจากการที่เป็นการวัดแบบย้อนกลับจากข้อมูลงบการเงินในอดีตของบริษัท โดยไม่ได้คำนึงถึงการเติบโตหรือศักยภาพในการหารายได้ในอนาคตของบริษัท (เมื่อเทียบกับ Forward P/E) ดังนั้น ในการใช้ Trailing P/E เป็นตัวช่วยในการเลือกลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะทำการวิเคราะห์ Trailing P/E ประกอบกับข้อมูลทางการเงินอื่น เช่น อัตราส่วนทางการเงินอื่น ข้อมูลการบริหารงานของบริษัทดังกล่าว งบการเงินโดยรวม ตลอดจน Forward P/E

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด