Transnational Strategy คืออะไร?
Transnational Strategy คือ รูปแบบหนึ่งของกลยุทธ์ในธุรกิจข้ามชาติที่ใช้ความได้เปรียบจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุดที่หาได้หรือจากแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำสุดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยบรรษัทข้ามชาติที่เลือกใช้กลยุทธ์แบบ Transnational Strategy จะรวมศูนย์แต่ละหน่วยงาน (Functional) ไว้ในแต่ละประเทศที่เป็นแหล่งผลิตที่ดีที่สุดสำหรับหน่วยงานนั้น
กลยุทธ์ Transnational Strategy จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีโจทย์สำคัญคือการแสวงหาและคัดเลือกแหล่งผลิตที่เหมาสมที่สุดในแต่ละหน่วยงานจากหลายประเทศ โดยคำนึงถึงเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งหรือทั้ง 2 เงื่อนไข คือ
- ความได้เปรียบด้านต้นทุน
- ความได้เปรียบจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุด
ดังนั้น ในธุรกิจข้ามชาติที่ใช้กลยุทธ์แบบ Transnational Strategy บริษัทอาจจะชิ้นส่วนแต่ละชิ้นส่วนในหลายประเทศ และนำมาประกอบรวมกันในอีกประเทศหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปกระจายสู่ลูกค้าทั่วโลก
ตัวอย่างเช่น การที่บริษัทผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น เข้าไปตั้งโรงงานและใช้ส่วนประกอบในแต่ละส่วนของรถยนต์จากหลายประเทศ โดยส่วนประกอบของรถยนต์ที่หามาจะคำนึงถึงแหล่งผลิตที่ดีที่สุด ต้นทุนต่ำที่สุด หรือทั้งสองประเด็นควบคู่กัน
ในการผลิตอาจใช้ยางจากประเทศ A, งานเกี่ยวกับเหล็กที่ประเทศ B, เบาะที่ผลิตในประเทศ C, งานผลิตเครื่องยนต์ในประเทศ D, และประกอบที่ประเทศ E, F, G เพื่อส่งขายยังประเทศใกล้เคียงเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง
จากตัวอย่างแม้ว่าบริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นจะกระจายแหล่งผลิตไปทั่วโลก แต่บริษัทแม่จะตั้งสำนักงานและดำเนินงานอยู่ที่ประเทศแม่ ซึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น
จะเห็นว่ากลยุทธ์แบบ Transnational Strategy เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างกลยุทธ์แบบ Multidomestic Strategy และกลยุทธ์แบบ Regional Strategy
ข้อได้เปรียบของ Transnational Strategy
ข้อได้เปรียบที่สำคัญของ Transnational Strategy คือ การที่บริษัทได้เข้าถึงแหล่งผลิตที่ดีที่สุดตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องคำนึงการดำเนินงานจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ในประเด็นเหล่านี้
- บริษัทได้ผลิตในประเทศที่มีแรงงานฝีมือดีที่สุดในแต่ละด้าน
- ผลิตด้วยแรงงานคุณภาพตามที่ต้องการ ในต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป
- ได้วัตถุดิบในราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะหาได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อระวังในส่วนของความได้เปรียบด้านต้นทุน คือ แม้ว่าจะได้แหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุด แต่ถ้าหากรวมต้นทุนอื่น ๆ เข้าไป อย่างเช่น ค่าขนส่ง หรือความยากลำบากในการเข้าไปลงทุน แล้วพบว่าต้นทุนโดยรวมไม่ได้ต่ำ ก็อาจเลือกแหล่งผลิตที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาแต่ต้นทุนอื่น ๆ ถูกกว่ามาก
เช่นเดียวกันกับเรื่องแหล่งผลิตที่ดีที่สุดหรือฝีมือแรงงาน แม้ว่าประเทศ A มีแรงงานฝีมือดีที่สุดในโลก แต่ถ้าค่าแรงสูงกว่าประเทศ B มาก หรือการเข้าไปลงทุนในประเทศ A เป็นเรื่องยาก ทั้งที่ฝีมือแรงงานต่างกันเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะเลือกประเทศ B ก็ได้
ข้อจำกัดของ Transnational Strategy
Transnational Strategy มีข้อจำกัดที่สำคัญคือในกรณีที่สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าชิ้นใหญ่จะทำให้ต้นทุนในการขนส่งวัตถุดิบสูง ซึ่งท้ายที่สุดถึงแม้ว่าจะลดต้นทุนวัตถุดิบได้ แต่ก็กลายเป็นว่าต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้นมาแทน
แม้ว่าในกรณีที่เป็นสินค้าที่มีชิ้นส่วนขนาดใหญ่อยู่น้อยชิ้น ก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยการตั้งโรงงานประกอบไว้ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบที่มีชิ้นใหญ่ชิ้นดังกล่าว
ทำให้ Transnational Strategy มักจะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกใช้กับการผลิตสินค้าเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ อย่างเช่น Notebook และโทรศัพท์ ที่ชิ้นส่วนที่ใช้นำมาประกอบมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาซึ่งง่ายต่อการขนส่งระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญของการใช้กลยุทธ์แบบ Transnational Strategy ในบรรษัทข้ามชาติคือต้องเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีเงินทุนสูง เนื่องจากต้องกระจายแหล่งผลิตไปทั่วโลก หรือในกรณีของการจ้างผลิตก็อาจจะต้องมีอำนาจต่อรองที่สูงหรือจ้างผลิตเป็นจำนวนมากจึงจะได้ต้นทุนที่ต่ำลงเสมือนการตั้งโรงงานผลิตเอง