GreedisGoods » Investment » อังกฤษออกพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

อังกฤษออกพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

by Kris Piroj
อังกฤษออกพันธบัตร ผลตอบแทนติดลบ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

อังกฤษออกพันธบัตรผลตอบแทนติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยพันธบัตรมีอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย -0.003% ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

อังกฤษออกพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ

สำนักงานบริหารหนี้ของอังกฤษเปิดเผยว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าได้ขายพันธบัตรอายุ 3 ปี มูลค่า 3.8 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 4.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -0.003% โดยพันธบัตรดังกล่าวมีกำหนดไถ่ถอนในเดือนกรกฎาคมปี 2023

อังกฤษเป็นประเทศล่าสุดที่ขายพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Bond Yield) ท่ามกลางความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และหลังจากที่อังกฤษได้ลดดอกเบี้ยเข้าใกล้ 0% เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

แต่อังกฤษไม่ใช่ประเทศแรกที่ออกขายพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ ก่อนหน้านี้หลายประเทศในยุโรป อย่างเช่น เยอรมนี และประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอย่างญี่ปุ่น ก็เคยมีการออกพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทนติดลบมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิคแล้ว Negative Bond Yield ไม่ใช่พันธบัตรที่ดอกเบี้ยติดลบที่เมื่อคุณลงทุนซื้อแล้วเหมือนกับจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร (ในทำนองนั้น) แต่เป็นผลตอบแทนจากการลงทุน (Yield) ที่ติดลบ

ผลตอบแทนที่ติดลบ (Negative Yield) ดังกล่าวหมายความว่า เมื่อคุณจ่ายเงินซื้อพันธบัตรของอังกฤษดังกล่าว 100 บาท เมื่อครบกำหนดการไถ่ถอนในอีก 3 ปีข้างหน้า ในเดือนกรกฎาคมปี 2023 คุณจะได้เงินกลับคืนมา 100 ลบ 0.003% หรือได้เงินคืน 99.997 บาทนั่นเอง

ทำไมยอมลงทุนทั้งที่เงินลดลง

มาถึงตรงนี้คำถามที่ติดอยู่ในหัวหลายคนคือ “ในเมื่อการซื้อพันธบัตรทำให้ในอีก 3 ปีเงินลดลง ทำไมยังเลือกซื้อพันธบัตรของอังกฤษ?”

เหตุผลคร่าว ๆ เป็นเพราะการนำเงินไปฝากไว้กับรัฐบาลอังกฤษ (ที่โอกาสล้มละลายต่ำ) ดีกว่าการนำเงินไปทำอย่างอื่นในช่วงที่ทุกคนมองว่าเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะ Great Depression ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้าการนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นอาจะทำให้เงินคุณลดลงมากกว่า -0.003% ก็ได้

และการที่พันธบัตรที่ให้ผลลบของอังกฤษขายออกนี้ หมายถึง การที่รัฐบาลอังกฤษมีความน่าเชื่อถือจากความสามารถในการชำระหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ (เชื่อว่าจะไม่เบี้ยวหนี้)

นักลงทุนจึงมองว่าพวกเขาจะได้รับเงินคืนแน่นอนไม่หายไปไหน ถึงแม้ว่าจะได้คืนกลับมาน้อยกว่าที่ได้จ่ายไปในตอนแรกหากพวกเขาถือพันธบัตรไว้จนครบกำหนด

สำหรับใครที่ต้องการทำความเข้าใจกลไกของพันธบัตรผลตอบแทนติดลบ (Negative Bond Yield) ได้ที่บทความ พันธบัตรผลตอบแทนติดลบ คืออะไร? ทำไมนักลงทุนยังซื้อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดียิ่งขึ้น ปรับตั้งค่าปฏิเสธ Cookies ยินยอม ดูรายละเอียด